นายโดมินิก สเตราส์-คาห์น ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และนายโรเบิร์ต โซลิค ประธานธนาคารโลก เตือนว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้นอาจทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนักในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา และจะทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง
"แรงกดดันด้านเงินเฟ้ออาจพุ่งสูงขึ้นหากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังปรับตัวขึ้นต่อไป และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง ราคาอาหารพุ่งขึ้น 48% นับตั้งแต่ปี 2549 โดยข้อมูลของไอเอ็มเอฟบ่งชี้ว่า กลุ่มประเทศเอเชียและแอฟริกาจะได้รับผลกระทบหนักสุดจากราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น" นายสเตราส์-คาห์นกล่าว
ด้านนายโซลิค ประธานธนาคารโลกเตือนว่า ราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของธนาคารโลกที่ต้องการให้จำนวนคนยากจนลดลงภายใน 7 ปี
"ขณะที่หลายคนกังวลว่าจะเอาเงินที่ไหนเติมน้ำมันรถยนต์ แต่ยังมีคนอีกมากมายทั่วโลกกำลังดิ้นรนเพื่อให้อิ่มท้อง ราคาอาหารที่แพงขึ้นและภาวะอาหารขาดแคลนทำให้ผู้ด้อยโอกาสมีทางรอดน้อยมาก" ประธานธนาคารโลกกล่าว
ทั้งนี้ นายโซลิคเรียกร้องให้กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมจัดหาเงินทุนมูลค่า 5 แสนล้านดอลลาร์เข้าสู่โครงการอาหารโลกขององค์การสหประชาชาติ เพื่อช่วยเหลือผู้หิวโหยอย่างเร่งด่วน
"ที่ผ่านมาเราพูดเรื่องนี้กันแต่ปากและรับรู้ข้อมูลจากสื่อ แต่ตอนนี้เราต้องลงมือปฏิบัติให้เป็นรูปอธรรม การร่วมมือกันจะทำให้โครงการต่างๆที่วางไว้เป็นจริงได้ " ประธานธนาคารโลกกล่าว สำนักข่าวซินหัวรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--