ลดวูบ! เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอ กดส่งออกธ.ค.65 ดิ่ง -14.6%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 24, 2023 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ลดวูบ! เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอ กดส่งออกธ.ค.65 ดิ่ง -14.6%

กระทรวงพาณิชย์ เผยการส่งออกของไทยเดือน ธ.ค.65 ลดลงถึง 14.6% ที่มูลค่า 21,718 ล้านดอลลาร์ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ส่วนการนำเข้าเดือนธ.ค. ลดลง 12% ที่มูลค่า 22,752 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ในเดือนธ.ค. ไทยขาดดุลการค้า 1,034 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยปี 2565 พบว่า การส่งออกยังขยายตัวได้ 5.5% คิดเป็นมูลค่า 287,068 ล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้า ขยายตัว 13.6% คิดเป็นมูลค่า 303,190 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ทั้งปี 65 ไทยขาดดุลการค้า 16,122 ล้านดอลลาร์

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ระบุว่า สาเหตุที่การส่งออกไทยเดือนธ.ค.65 ติดลบเป็นตัวเลข 2 หลักที่ 14.6% นั้น เป็นการหดตัวจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแอ โดยเฉพาะตลาดส่งออกสำคัญของไทย เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น ซึ่งการส่งออกของหลายประเทศในเอเชีย ต่างได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่เมื่อพิจารณาในแง่ของมูลค่าการส่งออกแล้ว ยังทำได้มากกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (20,759.5 ล้านดอลลาร์)

ในเดือนธ.ค.65 การส่งออกสินค้าลดลงทุกกลุ่มทั้งสินค้าเกษตร, สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม

  • สินค้าเกษตร ลดลง 11.6% ที่มูลค่า 2,042 ล้านบาท ขณะที่ทั้งปี 65 การส่งออกสินค้าเกษตร ขยายตัวได้ 2.2% ที่มูลค่า 26,721 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าเกษตร 3 อันดับแรก ที่การส่งออกยังขยายตัวได้ดี คือ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง, ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็ง, สับปะรดสด
  • สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ลดลง 10.8% ที่มูลค่า 1,556 ล้านดอลลาร์ แต่ทั้งปีขยายตัว 17.8% ที่มูลค่า 22,768 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 3 อันดับแรก ที่การส่งออกยังขยายตัวได้ดี คือ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์, นมและผลิตภัณฑ์นม, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป
  • สินค้าอุตสาหกรรม การส่งออกลดลง 15.7% ที่มูลค่า 17,249 ล้านดอลลาร์ แต่ทั้งปีขยายตัว 4.4% ที่มูลค่า 225,694 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าอุตสาหกรรม 3 อันดับแรก ที่การส่งออกยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์ และไดโอด, เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องใช้สำหรับเดินทาง

อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทย ยังมีปัจจัยหนุนจากค่าระวางเรือลดลงอย่างต่อเนื่อง การดำเนินการตามแผนส่งเสริมการส่งออกเชิงรุกของกระทรวงพาณิชย์ และภาคการท่องเที่ยวทั่วโลกที่ฟื้นตัว ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องเพิ่มสูงขึ้น

ด้านตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัวได้ดีในเดือนธ.ค. 10 อันดับแรก คือ อันดับ 1 อิรัก 144.1% อันดับ 2 ไอร์แลนด์ 130.9% อันดับ 3 บรูไน 62.1% อันดับ 4 อิหร่าน 48% อันดับ 5 โมซัมบิก 44.8% อันดับ 6 ซาอุดีอาระเบีย 35.5% อันดับ 7 สหราชอาณาจักร 23.7% อันดับ 8 สวีเดน 16.4% อันดับ 9 อิตาลี 12.3% และอันดับ 10 เม็กซิโก 6.7%

*วางเป้าปี 66 โต 1-2%

สำหรับในปี 66 กระทรวงพาณิชย์ ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกของไทยไว้ที่ 1-2% จากปี 65 โดยเป็นการขยายตัวที่น้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีปัจจัยลบที่ค่อนข้างมาก เช่น ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก, สต็อกสินค้าที่ยังคงค้างอยู่ในหลายประเทศ จึงอาจทำให้ชะลอการสั่งซื้อสินค้าจากไทยในช่วงไตรมาสแรกปีนี้, ราคาน้ำมันโลกยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง และเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่า ส่งผลต่อราคาสินค้าของไทยที่เสียเปรียบประเทศคู่แข่ง

แต่ที่ยังประเมินว่าการส่งออกยังเป็นบวกได้อยู่ เพราะยังพอมีปัจจัยบวก เช่น 1. ระบบการขนส่งสินค้าเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ 2. ความต้องการด้านอาหารของโลกยังมี ซึ่งเป็นผลดีกับการส่งออกอาหารของไทย 3. ตลาดศักยภาพบางตลาด ยังรองรับการส่งออกของไทยได้ เช่น ตะวันออกกลาง ตลาดเอเชียใต้ และตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ