สหรัฐเผยยอดขาดดุลการค้าทะยาน 5.7% แม้ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม

ข่าวต่างประเทศ Friday April 11, 2008 09:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเผย ยอดขาดดุลการค้าเดือนก.พ.มีการขยายตัวเร็วที่สุดในรอบ 3 เดือนแม้จะมีการลดการนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียม เนื่องจากการนำเข้ายานยนต์ ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าโภคภัณฑ์อย่างอาหารและวัตถุดิบอุตสาหกรรม ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
โดยยอดขาดดุลการค้าเดือนก.พ.มีการขยายตัว 5.7% เป็น 6.23 หมื่นล้านดอลลาร์ จากระดับ 5.9 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนม.ค. ในขณะที่ Thomson IFR Markets คาดการณ์ว่ายอดขาดดุลการค้าเดือนก.พ.จะลดลงแตะ 5.75 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับเดือนม.ค.
ยอดนำเข้าสินค้าและบริการมีการขยายตัว 3.1% ในเดือนก.พ. แตะ 2.137 แสนล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะการนำเข้ายานยนต์ซึ่งมีการขยายตัวกว่า 1.78 พันล้านดอลลาร์
การนำเข้าก๊าซธรรมชาติขยายตัว 1.25 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่การนำเข้าอาหารคนและอาหารสัตว์, ทองคำ, เคมีภัณฑ์ และวัตถุดิบอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็มีการขยายตัวเช่นกัน
ในขณะเดียวกัน สหรัฐส่งออกสิ้นค้าและบริการเพิ่มขึ้น 2.0% ในเดือนก.พ. โดยส่วนมากมาจากการส่งออกวัตถุดิบอุตสาหกรรม ซึ่งขยายตัวกว่า 1.86 พันล้านดอลลาร์ รวมถึงการส่งออกอาหารคนและอาหารสัตว์ ซึ่งมีการขยายตัว 670 ล้านดอลลาร์ แต่การส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องจักรอุตสาหกรรมและอุปกรณ์สื่อสารร่วงลง 688 ล้านดอลลาร์ ส่วนการส่งออกอากาศยานพลเรือนก็ร่วงลง 142 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม การส่งออกยานยนต์ทะยาน 405 ล้านดอลลาร์
สรุปแล้ว ยอดขาดดุลการค้ารวมเดือนก.พ.มีการขยายตัวแม้ว่าจะลดการนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมแล้วก็ตาม โดยสหรัฐนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมมูลค่า 3.77 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลงกว่า 2 พันล้านดอลลาร์เมื่อเทียบเดือนม.ค. อีกทั้งยังเป็นการลดลงครั้งแรกสำหรับปีนี้ ส่งผลให้ยอดขาดดุลการค้าจากการนำเข้าปิโตรเลียมลดลงเหลือ 3.25 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงครั้งแรกในรอบ 9 เดือน ส่งผลให้ราคานำเข้าน้ำมันเฉลี่ยทะยานแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 84.76 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
สหรัฐขาดดุลการค้าจีนลดลงเกือบ 3 พันล้านดอลลาร์ แตะ 1.84 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2550 ในขณะเดียวกัน ยอดส่งออกจากสหรัฐไปยังจีนก็มีการขยายตัวเกือบ 300 ล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ. ในขณะที่ยอดนำเข้าจากจีนลดลงราว 2.5 พันล้านดอลลาร์ สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียล รายงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ