คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องย้ำทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากมีมติล่าสุดขึ้นมา 0.25% ตามตลาดคาด แต่จับตาทิศทางอัตราเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด หลังจากเห็นสัญญาณการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่ได้แบกรับภาระเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาแต่ยังปรับขึ้นราคาหรือค่าบริการไม่ได้ ส่งผลให้มีต้นทุนที่ค้างคาอยู่จำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์รอบด้านที่ดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่คาดหวังนักท่องเที่ยวจีนจะเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว น่าจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย จะเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะต่อไป
นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ กนง. ระบุว่า หากแนวโน้มเงินเฟ้อในภาพรวมมีการเปลี่ยนแปลงไปจากทิศทางที่คาดการณ์ไว้ กนง.ก็พร้อมจะปรับทั้งขนาดและเงื่อนเวลาในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ แต่คาดว่าเงินเฟ้อพื้นฐานจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงไปอีกระยะหนึ่ง จากนั้นในช่วงปลายปี 66 น่าจะเห็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% โดยปีนี้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นเป็น 2 ใน 3 ของเงินเฟ้อในภาพรวม จากปีที่แล้วที่มีบทบาทเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น จึงเป็นเหตุผลทำให้ กนง.ยังคงทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเหมาะสมกับภาพรวมเศรษฐกิจในอนาคต
"จะต้องติดตามการส่งผ่านต้นทุนที่มีมากขึ้นในระยะต่อไป เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการยังส่งผ่านต้นทุนไม่ได้เต็มที่ ยังมีการค้างคาอยู่ ในระยะต่อไปมองว่ามีโอกาสที่ผู้ประกอบการจะส่งผ่านต้นทุนมาที่สินค้าและบริการมากขึ้น"นายปิติ กล่าว
กนง.ยังมองว่าการที่จีนเปิดประเทศจะเป็นผลในเชิงบวกต่อไทยมากกว่าลบ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยและจีนเชื่อมโยงใกล้ชิดกันพอสมควร ทั้งการท่องเที่ยวและการส่งออก ขณะที่การเปิดประเทศของจีนอาจส่งผลผลกระทบด้านลบกับโลก เพราะเมื่อมีการเดินทางมากขึ้นจะส่งผลให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น เพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ธนาคารกลางของหลายประเทศอาจจำเป็นต้องปรับนโยบายการเงินให้ตึงตัวขึ้นหากเงินเฟ้อยังไม่มีท่าทีลดลง และอาจจะมีผลกระทบทางอ้อมต่อไทยได้ รวมถึงเมื่อการท่องเที่ยวดีขึ้นก็อาจจะทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของไทยด้วย
"การที่จีนเปิดประเทศ ย่อมมีผลทั้งด้านบวกและด้านลบ แต่เรามองว่าผลกระทบที่มีต่อโลก น่าจะมากกว่าไทย...โดย net แล้วเชื่อว่าผลที่มีต่อไทย น่าจะเป็นผลในทางบวกมากกว่า" นายปิติ กล่าว
ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นจะเป็นตัวแปรหลักที่ทำให้จำนวนรวมของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 25.5 ล้านคน และอาจได้เห็นระดับ 34 ล้านคนในปี 67 ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์เดิมของ ธปท. รายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจจีนฟื้นตัว และเศรษฐกิจโลกดีกว่าที่เคยมองว่าจะแย่มาก ก็จะช่วยสนับสนุน GDP ของไทยในปีนี้ให้มีอัพไซด์ได้บ้าง แต่คงไม่มากนัก เนื่องจากยังมีปัจจัยกดดันจากการส่งออกที่เชื่อว่าไตรมาสแรกปีนี้จะยังไม่เห็นการฟื้นตัวจากเดือนธ.ค.65 ติดลบถึง 14.6% สูงกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ไว้
"สัญญาณการส่งออกแผ่วกว่าที่เรามองไว้ แต่จะแผ่วนานแค่ไหน ก็คงจะอีกสักระยะ คงไม่เห็นการฟื้นตัวในไตรมาสแรกนี้แน่ ซึ่งก็จะไปทอน GDP ในภาพรวม แต่จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น ก็จะช่วยสนับสนุน GDP ในภาพรวมให้เป็น upside ได้ แต่ก็คงไม่เยอะมากนัก" นายปิติ กล่าว
ขณะที่การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ไปสู่ธนาคารพาณิชย์นั้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมานั้น เชื่อว่าได้พิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับลูกหนี้และกลุ่มเปราะบางอย่างรอบคอบแล้ว โดยมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย MRR น้อยกว่าอดีตที่ผ่านมา ส่วนดอกเบี้ย MLR ได้ปรับขึ้นไปพอสมควรใกล้เคียงกับอดีต
"การที่ กนง.ขึ้นดอกเบี้ย ตลาดได้คาดการณ์ไว้แล้ว ดังนั้น การส่งผ่านต้นทุนของธนาคารพาณิชย์จึงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เราอยากให้ธนาคารพาณิชย์ดูแลกลุ่มเปราะบาง ไม่อยากให้มีหนี้เสีย และเราเองได้ชั่งน้ำหนักแล้วว่าภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือน จะสามารถรองรับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นได้จากการปรับขึ้นดอกเบี้ย...การฟื้นตัวของรายได้ เชื่อว่าจะสามารถรองรับภาระดอกเบี้ยได้" นายปิติระบุ
สำหรับสถานการณ์เงินบาทแข็งค่านั้น กนง.ยังจับตาอย่างใกล้ชิด ซึ่งที่ผ่านมา เงินบาทมีทั้งอ่อนค่าและแข็งค่า จากผลของปัจจัยภายนอกเป็นหลัก โดยเฉพาะจากนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยจะพบว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน เงินบาทแข็งค่าไปราว 4-5% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาคราว 2%
สาเหตุที่เงินบาทแข็งค่านอกจากจะเป็นผลของปัจจัยภายนอกแล้ว ยังมาจากปัจจัยภายในประเทศของไทยเอง คือ เศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นจากผลพวงของนักท่องเที่ยวจีน และเมื่อเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีในสายตาของนักลงทุน จึงทำให้ต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนซื้อสินทรัพย์ในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งถือว่ามีเหตุมีผลรองรับ ธนาคารแห่งประเทศไทย เห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีมาตรการพิเศษใด ๆ ออกมาดูแลค่าเงินบาท
"บาทแข็งค่า สะท้อนปัจจัยพื้นฐานนอกประเทศ และในประเทศ...การเคลื่อนไหวของค่าเงิน ค่อนข้างมีเหตุผล และไม่ได้เป็นประเด็นที่จะไปเกี่ยวกับนโยบาย (นโยบายการเงิน)" เลขานุการ กนง.ระบุ