กทท.เดินหน้าสายเดินเรือแห่งชาติ นำร่อง 3 เส้นทางในประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 26, 2023 08:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า คาดว่าจะสรุปผลการศึกษาในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติและแนวทางการพัฒนากองเรือพาณิชย์ไทยได้ ภายในเดือนก.พ. นี้ จากนั้นจะนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท. เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคม ได้ภายในเดือนมี.ค. 2566 เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป

ผู้อำนวยการ กทท.กล่าวว่า กทท.เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่จัดตั้งตามพ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 ซึ่งพบว่า ไม่สามารถจัดตั้งบริษัทลูก สายเดินเรือแห่งชาติได้ เนื่องจากการเดินเรือจัดเป็นกิจการอื่นที่ไม่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับการประกอบกิจการท่าเรือตามมาตรา 6

ดังนั้นในการจัดตั้งบริษัท สายการเดินเรือแห่งชาติ ช่วงแรก จะต้องพิจารณาให้กระทรวงการคลังหรือหน่วยงานรัฐเข้าถือหุ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างแก้ไขพ.ร.บ.การท่าเรือฯ หากแล้วเสร็จ จะทำให้กทท.สามารถตั้งบริษัทลูก หรือ ถือหุ้นในบริษัทฯ ได้ในอนาคต

"เชื่อมั่นว่าในปี 66 การจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติและการพัฒนากองเรือพาณิชย์ไทยจะเกิดขึ้นได้จริง ส่วนมูลค่าการลงทุนขึ้นกับหลายปัจจัย รวมถึง การจัดหาเรือใหม่ หรือใช้เรือมือสอง หรือเรือของผู้ร่วมทุนที่มีอยู่"

กทท. ได้ดำเนินการจ้างบริษัท ทรานส์คอนซัลท์ จำกัด และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติและแนวทางการพัฒนากองเรือพาณิชย์ไทย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการส่งเสริมพาณิชยนาวีและส่งเสริมให้มีการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางน้ำ เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง และเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าชายฝั่งภายในประเทศและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือที่ชักธงไทย เป็นการเสริมศักยภาพการแข่งขันลดการขาดดุลค่าระวางเรือให้กับเรือไทย อีกทั้งยังช่วยให้มีการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางน้ำให้เกิดความคุ้มค่า มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในอนุภูมิภาค ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจการให้บริการของ กทท. สร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินเรือของไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สนับสนุนให้เกิดการลงทุนในธุรกิจเดินเรือพาณิชย์ เสริมสร้างศักยภาพระบบพาณิชยนาวีและโลจิสติกส์เพื่อการค้าทางทะเลของไทยอย่างครบวงจร

โดยผลการศึกษาพบว่า รูปแบบการบริหารสายการเดินเรือแห่งชาติที่เหมาะสม รัฐควรถือหุ้นในสัดส่วนไม่เกิน 25% เอกชน 75% จะทำให้มีความคล่องตัวในการบริหารงาน สามารถตัดสินใจได้รวดเร็ว ซึ่งรูปแบบนี้ มีกลุ่มผู้ประกอบการและนักลงทุนให้ความสนใจร่วมลงทุนจำนวนหลายราย ซึ่งเปิดเดินเรือเส้นทางภายในประเทศ

การศึกษาพบว่า มี 9 เส้นทางที่มีความเหมาะสม มีทั้งเส้นทางเก่าที่มีการเดินเรืออยู่แล้ว และเส้นทางใหม่ ที่ยังไม่มีการเดินเรือ ซึ่งจะนำร่อง 3 เส้นทางใหม่ คาดมีผลตอบแทนทางการลงทุนอยู่ที่ 7.71 %

ได้แก่ 1. เส้นทางท่าเรือมาบตาพุด (ระยอง) - ท่าเรือแหลมฉบัง(ชลบุรี) ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพ เนื่องจาก มีมาบตาพุดมีปริมาณสินค้าประมาณ 4 แสนทีอียู/ปี ปัจจุบันต้องขนส่งทางถนนทั้งหมด เส้นทางเดินเรือนี้จะทำให้เกิดการชิฟโหมดจากทางถนนสู่ทางน้ำและทำให้มีการเพิ่มปริมาณสินค้าได้อีกตามไปด้วย

2. เส้นทางท่าเรือไฟร์ซัน (สมุทรสงคราม) - ท่าเรือแหลมฉบัง(ชลบุรี) และ3. เส้นทางท่าเรือแหลมฉบัง (ชลบุรี) - ท่าเรือสุราษฎร์ธานี

ส่วนอีก 6 เส้นทาง เป็นเส้นทางที่มีการเดินเรืออยู่แล้ว จะพิจารณาลำดับต่อไป โดยจะเป็นรูปแบบที่จะส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพ ไม่ใช่การแข่งขัน

ด้านเส้นทางการเดินเรือต่างประเทศนั้นได้พิจารณารูปแบบการให้บริการออกเป็น 2 ระยะ คือ

  • ระยะที่ 1(First Phase) เป็นบริการเดินเรือไม่ประจำเส้นทาง (Tramp Service) ให้บริการขนส่งสินค้าประเภทเทกอง (Bulk Cargo) คาดการณ์ส่วนแบ่งปริมาณสินค้าที่จะมาใช้บริการสายการเดินเรือแห่งชาติ 2 %คิดเป็น 1.2 ล้านตัน ขีดความสามารถในการให้บริการจำเป็นต้องจัดหาเรือประเภท (1) เรือขนาดHandy Max ขนาด 32,000 เดทเวทตัน จำนวน 3 ลำ ให้บริการปีละ 8 รอบ (2) เรือขนาด Supra Max ขนาด 50,000 เดทเวทตัน จำนวน 2 ลำให้บริการปีละ 5 รอบ
  • ระยะที่ 2 (Second Phase) เป็นการให้บริการเดินเรือบรรทุกตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ (Container Service) ให้บริการในเส้นทางเอเชียตะวันออก (จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง) อาเซียน (อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม) และกลุ่มประเทศBIMSTEC (อินเดียและเมียนมา) ประเภทสินค้าที่ส่งออกจากไทยรวมปริมาณส่งออก 20.0 ล้านตัน สำหรับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศรวมปริมาณนำเข้า 9.1 ล้านตัน เบื้องต้นคาดการณ์ปริมาณสินค้าที่จะมาใช้บริการเรือบรรทุกตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ของบริษัทสายการเดินเรือแห่งชาติร้อยละ 2 ของการส่งออกและนำเข้า คิดเป็นจำนวนสินค้าคอนเทนเนอร์ 31,005 TEUS ขนาดของเรือที่จะเข้ามาให้บริการเป็นเรือตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ขนาด 1,500 TEUS (Feeder Size) จำนวน 4 ลำ แต่ละลำทำรอบหมุนเวียน 8 รอบต่อปี

โดยคาดหมายว่า ช่วงแรกจะมีปริมาณการขนส่งสินค้าทางน้ำภายในประเทศ ที่ 10% (1ล้านทีอียู) ของปริมาณทั้งสิ้น 10 ล้านทีอียู/ปี และมีอัตราเติบโต เฉลี่ย 1 เท่าตัว ใน 5 -10 ปี

ปัจจุบัน การขนส่งในประเทศ ใช้ถนนมากสุดที่ 85% ทางราง 10% ทางน้ำ 5% การตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ มีเป้าหมาย ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการขนส่งทางชายฝั่งและทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย จะเพิ่มสัดส่วนขนส่งทางน้ำเป็น 7% และ 10% ตามลำดับ และยังสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจภายในประเทศ เกิดการจ้างงานในธุรกิจการเดินเรือและกำไรที่ได้จากผลประกอบการก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางอ้อมไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การต่อเรือ การประกันวินาศภัยทางทะเล เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ