สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าชะลอลงตามทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
*การท่องเที่ยว
นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 2.24 ล้านคน ขยายตัว 872.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงจาก พ.ย.65หลังขจัดผลทางฤดูกาล -41.1% ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวมาเลเซีย รัสเซีย อินเดีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ขณะที่การท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยมีจำนวน 21.6 ล้านคน ขยายตัว 35.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -2.7%
*การบริโภคเอกชน
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า การบริโภคหมวดสินค้าคงทน ยอดขายรถยนต์นั่ง และรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ลดลง -22.6% และ -0.2% การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ลดลง -9.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 49.7 จาก 47.9 ในเดือนก่อนหน้า เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และสูงสุดในรอบ 25 เดือน เป็นผลมาจากผู้บริโภคเชื่อมั่นเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้นหลังจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น และรายได้เกษตรกรที่แท้จริงเพิ่มขึ้น 7.3%
*การลงทุนเอกชน
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า หมวดเครื่องมือเครื่องจักร ปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ลดลง -10.8% ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ลดลง -1.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
การลงทุนหมวดก่อสร้าง ปริมาณขายปูนซีเมนต์ในประเทศ ลดลง -4.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น 22.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
*การส่งออก
มูลค่าการส่งออก 21,718.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง -14.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ลดลง -12.5% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานสูงในปีก่อน ประกอบกับ การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยลดลง อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ รถยนต์ และสินค้าเกี่ยวข้องกับน้ำมัน
อย่างไรก็ดี ยังมีสินค้าส่งออกที่ขยายตัว ได้แก่ ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง โดยขยายตัว 22.8% และ 21.6% ตามลำดับ รวมทั้งเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ที่ขยายตัว 65.6% และ 8.1% ตามลำดับ
เมื่อจำแนกรายตลาดคู่ค้าหลัก พบว่า ส่วนใหญ่ลดลงตามอุปสงค์ชะลอตัวของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี ตลาดที่ยังคงขยายตัว ได้แก่ สหราชอาณาจักร และตะวันออกกลาง ที่ขยายตัว 23.7% และ 4.7% ตามลำดับ
*ด้านอุปทาน
ภาคการเกษตร ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัว 5.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ อาทิ มันสำปะหลัง ผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ และผลผลิตในหมวดไม้ผล เป็นต้น
ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ลดลงมาที่ 92.6 จาก 93.5 ในเดือนก่อนหน้า จากมีปัจจัยกดดัน ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม และปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
*เสถียรภาพ
เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้มีปัจจัยกดดันจากราคาสินค้า สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป 5.89% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 3.23% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน พ.ย.65 อยู่ที่ 60.47% ต่อ GDP ยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง และผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ 0.47% ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมด
เสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ อยู่ในระดับสูงที่ 216.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ