น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากกรมวิชาการเกษตรว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกดีขี้นอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัว ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีใบรับรองสุขอนามัยพืชของไทยไปต่างประเทศ เป็นที่ต้องการของทั่วโลก โดยในปี 65 ที่ผ่านมา มียอดการส่งออกกว่า 23.7 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 5.36 แสนล้านบาท
สำหรับสินค้าเกษตร 5 อันดับแรก ที่สร้างมูลค่าการส่งออกให้ประเทศไทย ได้แก่
- อันดับ 1 ผลไม้สด ปริมาณการส่งออกกว่า 2.94 ล้านตัน สร้างมูลค่าการส่งออก 1.72 แสนล้านบาท โดยผลไม้สดที่สร้างมูลค่าการส่งออก 3 อันดับแรก คือ ทุเรียน มะพร้าวอ่อน และลำไย
- อันดับ 2 ข้าว มีปริมาณการส่งออกกว่า 5.22 ล้านตัน สร้างมูลค่าในการส่งออก 1.02 แสนล้านบาท โดยข้าวที่สร้างมูลค่าในการส่งออก 3 อันดับแรก คือ ข้าวขาว ข้าวหอม และข้าวนึ่ง
- อันดับ 3 ยางพาราและผลิตภัณฑ์ มีปริมาณการส่งออกกว่า 1.65 ล้านตัน สร้างมูลค่าในการส่งออก 9.03 หมื่นล้านบาท โดยยางพาราและผลิตภัณฑ์ ที่สร้างมูลค่าการส่งออก 3 อันดับแรก คือ ยางธรรมชาติผสมยางสังเคราะห์ น้ำยาง และยางแท่ง
- อันดับ 4 ไม้และผลิตภัณฑ์ มีปริมาณการส่งออกกว่า 4.42 ล้านตัน สร้างมูลค่าในการส่งออก 5.21 หมื่นล้านบาท โดยไม้และผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าในการส่งออก 3 อันดับแรก คือ ไม้ยูคาลิปตัสสับ ไม้ยางพารา และแผ่นไม้อัด
- อันดับ 5 มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ มีปริมาณการส่งออกกว่า 7.82 ล้านตัน สร้างมูลค่าในการส่งออก 5.15 หมื่นล้านบาท โดยมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าในการส่งออก 3 อันดับแรก คือ มันเส้น มันแผ่น และแป้งมันสำปะหลัง
ด้าน นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมวิชาการเกษตร จับมือกับพันธมิตรทั่วโลก เปิดการใช้งานใบรับรอง e Phyto ขยายคลุมสินค้าไปทุกประเทศทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 65 นั้น ถือเป็นการอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องกับทำธุรกรรมการขอใบอนุญาต ใบรับรอง เพื่อการนำเข้า ส่งออก นำผ่าน และโลจิสติกส์
ทั้งนี้ ทำให้ผู้ส่งออกสินค้าเกษตร สามารถขอใบรับรองสุขอนามัยพืช ผ่านระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (ePhyto) ด้วยความสะดวกและรวดเร็ว สร้างรายได้อย่างมหาศาลเข้าประเทศในปี 65 กว่า 5.36 แสนล้านบาท
ในปี 65 มีปริมาณฝนสะสมทั่วประเทศมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกพืช ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก และทำการผลิตได้มากขี้น ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรมีแรงจูงใจในการเพิ่มการผลิต และมีการบำรุงรักษามากขึ้น
นอกจากนี้ จากการตรวจรับรอง GAP อย่างเข้มข้นของกรมวิชาการเกษตร ทำให้ได้สินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานตรงกับความต้องการของต่างประเทศ อีกทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรของไทย ทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ขยายตัวได้มากขึ้น