ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) ระบุเตรียมวางแผนระยะสั้นและระยะกลางเพื่อปรับปรุงและยกระดับรัฐวิสาหกิจ หวังให้เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเสนอทางเลือกแหล่งเงินทุนใหม่ เพื่อไม่ให้เป็ฯภาระหนี้สาธารณะ
อนึ่ง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เตรียมเรียกประชุมและมอบนโยบายให้กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้ง 58 แห่งในวันที่ 30 เม.ย.นี้
"สคร.มีแผนจะปรับปรุงและยกระดับรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ" นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการ สคร.ระบุในเอกสารเผยแพร่
แผนงานระยะสั้น ประกอบด้วย มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจจำนวน 3.3 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 51 ให้ได้ตามเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 85% สูงกว่าปีก่อนที่มีอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุน 64% ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)สามารถขยายตัวได้ถึง 5.6%,
การพัฒนาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ(SFI-Special Financial Institutions) ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) ให้เป็นกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเน้นการปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้น โดยในปี 51 ตั้งเป้ารวมกันจำนวน 7.715 แสนล้านบาท, การสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุน, การปรับปรุงระบบธรรมาภิบาลในรัฐวิสาหกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและภาพลักษณ์ที่ดี และการจัดทำบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ (Directors’ Pool) เป็นต้น
ส่วนแผนงานระยะปานกลาง ประกอบด้วย การฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหาทางการเงิน ได้แก่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) การเคหะแห่งชาติ(กคช.) ซึ่งขณะนี้ 3 รัฐวิสาหกิจดังกล่าวมีผลขาดทุนสะสมรวมกันถึง 9.6 หมื่นล้านบาท, การวางระบบการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2511, การผลักดัน พ.ร.บ.ว่าด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ(แทน พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542) เป็นต้น
นายอารีพงศ์ กล่าวว่า สคร.ได้ประมาณการลงทุนของรัฐวิสาหกิจใน 10 ปีข้างหน้า(49-58) เท่ากับ 3.6-4 ล้านล้านบาท ดังนั้นเพื่อลดภาระหนี้สาธารณะของประเทศ สคร.จึงได้พิจารณาทางเลือกใหม่ของแหล่งเงินทุน ไม่ว่าจะเป็น การแปลงทรัพย์สินเป็นหลักทรัพย์ (Securitization) การเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในรัฐวิสาหกิจ(Public Private Partnership) จะช่วยแก้ไขปัญหาได้
ปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สคร.จำนวน 58 แห่ง แบ่งออกเป็น 9 สาขา เป็นสถาบันการเงิน 9 แห่ง ปี 2550 มีสินทรัพย์รวมกันประมาณ 6.605 ล้านล้านบาท หนี้สินรวม 4.986 ล้านล้านบาท มีผลกำไร 1.908 แสนล้านบาท ยอดเงินนำส่งคลังประมาณ 8.612 หมื่นล้านบาท อัตราการเบิกจ่ายเงินลงทุนเท่ากับร้อยละ 64 จากวงเงินลงทุนที่อนุมัติ 3.367 แสนล้านบาท และอัตราผลตอบแทนกำไรเบื้องต้น 7.2%
--อินโฟเควสท์ โดย ธนวัฏ เสือแย้ม/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--