นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ในปี 2566 นี้ ธนาคารฯ จะเน้นการเข้าไปสนับสนุนสินเชื่อในธุรกิจที่เป็น Trend ของโลกมากขึ้น เช่น ธุรกิจ Soft Power, ธุรกิจที่เป็น Future Industry และ Hospitality ทั้งในส่วนของ Medical และ Tourism จากในปี 2565 ที่ผ่านมา ที่ได้เข้าไปสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ธุรกิจประเภทพลังงานสะอาด, Future food, Logistic และ Supply Chain
นอกจากนี้ ในปีนี้ EXIM BANK มีโครงการจะระดมทุนเพิ่มด้วยการออกกรีนบอนด์ อีก 5,000 ล้านบาท ซึ่งต้องรอให้ผ่านการอนุมัติการเพิ่มทุนจำนวน 2,000 ล้านบาทก่อน จึงจะสามารถกำหนดระยะเวลาในการออกกรีนบอนด์ว่าจะเป็นช่วงใด จากที่ในเดือน ก.ย.65 EXIM BANK ได้เคยมีการออกกรีนบอนด์ไปแล้ว 2 รุ่น วงเงินรวม 5,000 ล้านบาทเช่นกัน
สำหรับแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นในปีนี้ หลังจากที่สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ประกาศจะเริ่มทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้น นายรักษ์ กล่าวว่า EXIM BANK จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของปีนี้ อีก 0.25% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.66 เป็นต้นไป หลังจากนั้นคาดว่าจะปรับขึ้นอีกครั้งในช่วงกลางปี 66 โดยจะปรับขึ้นครั้งละ 0.25% เช่นกัน
จากสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้ นายรักษ์ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสินทรัพย์ในประเทศมีราคาดี ภายหลังจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จึงทำให้มีเม็ดเงินจากต่างชาติทยอยไหลเข้ามาลงทุนซื้อสินทรัพย์ในไทยมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจควรอาศัยช่วงจังหวะที่เงินบาทแข็งค่านี้ ในการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาสต็อกไว้ ซึ่งคาดว่าภายในช่วงไตรมาสแรกนี้ เงินบาทน่าจะยังแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 32-34 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศได้ในราคาที่ถูกกว่าช่วงที่เงินบาทอ่อน อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบธุรกิจด้วย
นายรักษ์ กล่าวว่า ในปี 66 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอลงชัดเจน ธนาคารโลก และ The Economist Intelligence Unit (EIU) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้ จะขยายตัวไม่เกิน 2% ต่ำสุดในรอบ 30 ปี เป็นผลจากปัญหาเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง และดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทย ที่คาดว่าจะเติบโตได้สูงสุดเพียง 2% หรือชะลอกว่า 2 เท่าจากปีก่อนหน้า อันเนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป ราคาสินค้าส่งออกเริ่มลดลง และเงินบาทผันผวนสูง
"ท่ามกลางปัจจัยท้าทาย และความไม่แน่นอนในหลากหลายมิติ โอกาสจึงเป็นของผู้ที่จะเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจไปยังตลาดที่มีศักยภาพ และเหมาะกับสินค้าและบริการของธุรกิจ โดย EXIM BANK พร้อมทำหน้าที่ Miracle Maker พัฒนาธุรกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนในเวทีโลก ด้วยการส่งเสริมการบุกตลาดการค้าการลงทุนที่มีศักยภาพและยกระดับสินค้าและบริการของไทยให้ได้มาตรฐานสากล โดยชูนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยทุกระดับมีความกล้าและความพร้อมที่จะเข้าสู่ Supply Chain การส่งออก การพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจใหม่ ๆ ที่มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำและตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่" กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าว
*ผลงานปี 65 เติบโตได้ระดับสองหลัก ในมิติต่าง ๆ ดังนี้
- ยอดคงค้างสินเชื่อ 168,331 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15,558 ล้านบาท หรือ 10.18% จากปีก่อน เติบโตสองหลักต่อเนื่อง 2 ปี และสูงสุดตั้งแต่เปิดดำเนินงานในปี 2537 ทั้งนี้ อัตราการเติบโตดังกล่าวสูงกว่าระบบธนาคารถึง 2 เท่า
- วงเงินอนุมัติสินเชื่อใหม่ 94,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 19.21% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็น Double Digit Growth ทั้งในภาพรวม และเพิ่มขึ้นถึง 17.91% ในกลุ่ม SMEs ซึ่งเป็น Double Digit Growth เช่นเดียวกัน
- ยอดคงค้างสินเชื่อที่สนับสนุนความยั่งยืน 47,628 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 21.83% จากปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 30% ของยอดคงค้างสินเชื่อทั้งหมด เติบโตสองหลักต่อเนื่อง 2 ปี
- ปริมาณธุรกิจสะสมบริการประกัน 169,338 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 10.34% จากปีก่อน เติบโตสองหลักต่อเนื่อง 2 ปี และสูงสุดตั้งแต่เปิดดำเนินงานเช่นเดียวกับด้านสินเชื่อ
- จำนวนลูกค้าทั้งด้านสินเชื่อและรับประกัน 6,102 ราย เพิ่มขึ้นสูงถึง 24.00% จากปีก่อนหน้า เติบโตสองหลักต่อเนื่อง 2 ปี อีกทั้งยังถือเป็นผลงานการเติบโตที่มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้กว่า 2 เท่า ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2565 EXIM BANK ได้ช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการกว่า 21,000 ราย วงเงินรวมกว่า 90,000 ล้านบาท
- NPL Ratio อยู่ที่ 2.90% เป็นอัตราที่ต่ำกว่าเป้าหมายและต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ต่อเนื่อง 2 ปี และมีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) จำนวน 12,821 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) 262.99%
นายรักษ์ กล่าวว่า ในปี 2565 EXIM BANK มีกำไรจากการดำเนินงาน 2,737 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14.51% ถือเป็นการเติบโตสองหลักต่อเนื่อง 2 ปี และมีกำไรสุทธิ 1,504 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่มากกว่า 1,500 ล้านบาท ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แม้จะมีการช่วยเหลือลูกค้าด้วยการตรึงดอกเบี้ย Prime Rate มานานกว่า 6 เดือน ต่อเนื่องถึงสิ้นเดือนมกราคม 2566 ก็ตาม