เศรษฐกิจโลกชะลอ ฉุดดัชนี MPI ธ.ค.65 หดตัว 8.19%YoY ทั้งปีโตเพียง 0.62%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 31, 2023 12:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เศรษฐกิจโลกชะลอ ฉุดดัชนี MPI ธ.ค.65 หดตัว 8.19%YoY ทั้งปีโตเพียง 0.62%

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ธ.ค. 65 อยู่ที่ 93.89 หดตัว 8.19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยเป็นการหดตัวอย่างต่อเนื่อง และหดตัวมากที่สุดในรอบ 28 เดือน (เดือนส.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 91.21) แต่ในช่วง 12 เดือนของปี 65 (ม.ค.-ธ.ค.) ขยายตัวเฉลี่ย 0.62%

ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) ในเดือนธ.ค. อยู่ที่ 59.67% ลดลงจาก 61.09% ในเดือน พ.ย. 65 ขณะที่ในช่วง 12 เดือนแรกของปี 65 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 62.61%

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ MPI เดือน ธ.ค. หดตัว คือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแอ โดยเฉพาะในตลาดส่งออกสำคัญของไทย ส่งผลต่อกำลังซื้อจากต่างประเทศหรือการส่งออกของไทย

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ รวมถึงที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหลายอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดี อาทิ น้ำมันปาล์ม จากปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดจำนวนมากกว่าปีก่อน, ยานยนต์ จากรถยนต์นั่งขนาดกลางและรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่ตลาดส่งออกขยายตัว และน้ำมันปิโตรเลียมที่กลับมาผลิตได้อีกครั้ง

*ดัชนี MPI ปี 65

ภาพรวมทั้งปี 65 เฉลี่ยอยู่ที่ 98.32 ขยายตัวเฉลี่ย 0.62% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าคาดการณ์ที่ประมาณการไว้เมื่อเดือนพ.ย. 65 ที่ 1.9% เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัวเร็วกว่าคาด ส่งผลให้การผลิตในบางอุตสาหกรรมชะลอตัวตามการสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ลดลง เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก เม็ดพลาสติก และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ประกอบกับโรงกลั่นน้ำมันปิดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ในช่วงไตรมาส 4/65 และการผลิต Hard Disk Drive (HDD) ในปี 65 ลดลงเฉลี่ย 30%

"จากที่เคยคาดว่า ผลกระทบของเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จะมาชัดเจนช่วงม.ค. 66 แต่กลับเริ่มเห็นผลกระทบจากการชะลอตัวมาตั้งแต่ปลายเดือนธ.ค. 65 ดังนั้น ในเดือนม.ค. 66 คาดว่า MPI ก็จะหดตัวต่อเนื่อง" นางวรวรรณ กล่าว

*แนวโน้มดัชนี MPI ปี 66

สำหรับ MPI เดือนม.ค. 66 คาดว่าจะหดตัว เนื่องจากราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง อุปสงค์สินค้าในตลาดโลกจากการที่ตลาดส่งออกสำคัญและคู่ค้าหลัก ทั้งยุโรป สหรัฐฯ และจีน มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะชะลอตัว นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าส่งผลต่อการส่งออกไทย ขณะเดียวกัน ยังมีเรื่องฐานเปรียบเทียบในปีก่อนอยู่ในระดับสูง เนื่องจากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจในหลายประเทศเริ่มกลับมา หลังการระบาดของโควิดมีทิศทางคลี่คลาย

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง หลังได้รับแรงส่งของภาคการท่องเที่ยวจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้นตามลำดับ รวมถึงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายช้อปดีมีคืน หนุนการบริโภคในประเทศจากความต้องการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นางวรวรรณ กล่าวว่า ในเดือนก.พ. อาจจะมีการปรับประมาณการ MPI ปี 66 อย่างไรก็ดี ต้องรอตัวเลขเศรษฐกิจจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยขณะนี้ขอคงตัวเลขไว้เท่าเดิมที่ 2.5-3.5% เนื่องจากมีทั้งปัจจัยบวกจากเรื่องการท่องเที่ยว และปัจจัยลบจากเศรษฐกิจถดถอย

ทั้งนี้ มีประเด็นที่ควรเฝ้าระวังในปี 66 คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทย, เงินเฟ้อชะลอตัวลงแต่ยังอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ และเรื่องความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน

สศอ. คาดการณ์อุตสาหกรรมในปี 66 ที่มีแนวโน้มขยายตัวตามกระแสโลก และตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่มที่เกี่ยวกับสุขภาพ เครื่องปรับอากาศเทคโนโลยีสูง เม็ดพลาสติกชีวภาพ เภสัชภัณฑ์ สิ่งทอเทคนิค และยางล้อรถประหยัดพลังงาน

"คาดว่าดัชนี MPI ของทั้งปี 66 จะดีกว่าทั้งปี 65 แน่นอน แม้จะมีปัจจัยลบหลายอย่าง แต่ก็มีปัจจัยบวกโดยเฉพาะปัจจัยในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว และยานยนต์ เนื่องจากคาดว่าจะมีมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น" นางวรวรรณ กล่าว

นอกจากนี้ สศอ. ประเมินว่า จากนโยบายจีนเปิดประเทศ จะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมไทย มีรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นประมาณ 2-3 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้การบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศที่แท้จริงภาคอุตสาหกรรม (Real GDP of Manufacturing) เพิ่มขึ้น 0.30%

นางวรวรรณ กล่าวว่า ในช่วงเลือกตั้งปี 66 ประมาณเดือนพ.ค. 66 จะทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีความคึกคัก ทั้งจากการหาเสียง และการลงพื้นที่ โดยคาดว่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องจะได้รับอานิสงส์เชิงบวก เช่น อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ โฆษณา สินค้าอุปโภค-บริโภค เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ