(เพิ่มเติม) ฟิทช์ยกเลิกเครดิตพินิจที่มีแนวโน้มเป็นลบของ ADVANC และ DTAC

ข่าวต่างประเทศ Friday April 11, 2008 14:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ยกเลิกเครดิตพินิจโดยมีแนวโน้มในเชิงลบ (RWN) แก่บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ที่เคยให้ไว้เมื่อเดือนก.พ. 2550 หลังจากที่ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ความเสี่ยงด้านนโยบาย กฎหมาย และการกำกับดูแลลดลงมาอยู่ในระดับที่ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อ AIS และ DTAC ในแง่ของการลงทุนและการสนับสนุนของผู้ถือหุ้นในอนาคต
ขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของ ADVANC และ DTAC โดยอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating) ของ ADVANC ที่ ‘BBB+’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term rating) ที่ ‘AA(tha)’
และ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term rating) ที่ ‘F1+(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ DTAC ที่ ‘BB+’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1(tha)’ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันที่ ‘A(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
ถึงแม้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีคำวินิจฉัยในเดือนพฤษภาคม 2550 ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาสัมปทานที่เกิดขึ้นในอดีตของผู้ประกอบการโทรคมนาคมนั้นไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานเพื่อดำเนินการรวบรวมข้อมูลและนำเสนอความเห็นเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบต่อไป
แต่ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาความคืบหน้าของเรื่องดังกล่าวมีน้อยมากโดยมีสาเหตุหลักมาจากการลาออกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารซึ่งเป็นผู้ริเริ่มให้มีการทบทวนการแก้ไขสัญญาสัมปทานในอดีตของผู้ประกอบการเอกชนในธุรกิจโทรคมนาคมในเดือนกันยายน 2550
นอกจากนี้การเลือกตั้งและแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ได้ทำให้ความเสี่ยงของการยกเลิกสัญญาสัมปทานดังกล่าวลดลงไปอีก โดยฟิทช์คาดว่ารัฐบาลใหม่มีแนวโน้มที่จะเลือกใช้แนวทางที่นุ่มนวลในเรื่องของการทบทวนสัญญาสัมปทานดังกล่าวซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อผู้ประกอบการเอกชนในธุรกิจโทรคมนาคมเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาและการเปิดเสรีอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและไม่น่าที่จะนำประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องของการทบทวนสัญญาสัมปทานข้างต้นมาเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม
อันดับเครดิตของ ADVANC สะท้อนถึงฐานะการเงินที่แข็งแกร่งและความเป็นผู้นำในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท โดยบริษัทเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดของประเทศ นอกจากนี้ ADVANC ยังมีข้อได้เปรียบทางด้านโครงสร้างต้นทุนเนื่องจากมีฐานลูกค้าที่ใหญ่และมีต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานที่ต่ำเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่น
อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายในการลงทุนและการพัฒนาระบบเครือข่ายไปสู่ระบบ 3G (Third generation of mobile phone) ที่สูง การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ และความไม่แน่นอนทางด้านกฎระเบียบของกิจการโทรคมนาคมของประเทศ อาจส่งผลกระทบในแง่ลบต่อฐานะการเงินที่แข็งแกร่งของ ADVANC โดยเฉพาะอย่างยิ่งหาก ADVANC ยังคงรักษาอัตราการจ่ายเงินปันผลที่อยู่ในระดับสูง
ในปี 2550 บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าเช่า (EBITDAR) จำนวน 43.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% จากปี 2549 ซึ่งอยู่ที่ 42.5 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2550 บริษัทยังคงมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และ ค่าเช่า (net adjusted debt to EBITDAR) อยู่ที่ 0.5 เท่า
สำหรับอันดับเครดิตของ DTAC สะท้อนถึงสถานะทางการตลาดของบริษัทที่แข็งแกร่ง สถานะการเงินที่อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งขึ้น และการได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งได้แก่บริษัท เทเลนอร์ เอ เอส เอ หรือ เทเลนอร์ จาก นอร์เวย์ อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตของ DTAC ได้พิจารณารวมถึงค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพื่อขยายและพัฒนาเทคโนโลยีระบบเครือข่ายที่สูง การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ และความไม่แน่นอนทางด้านกฎระเบียบของกิจการโทรคมนาคมของประเทศไทย
กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าเช่า (EBITDAR) ของ DTAC เติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2550โดยเพิ่มขึ้น 6.8% มาอยู่ที่ 19.6 พันล้านบาท ฐานะการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากผลการดำเนินงานและความสามารถในการทำกำไรที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดย DTAC มีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และ ค่าเช่า (net adjusted debt to EBITDAR) ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 1.7 เท่า ณ สิ้นปี 2550 จาก 2.4 เท่า ณ สิ้นปี 2549

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ