นักวิเคราะห์คาดว่า การประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าแบงค์ชาติกลุ่ม G7 อาจมีความคิดเห็นที่ไม่สอดคล้องกันเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาในตลาดสินเชื่อ แม้ก่อนหน้านี้รัฐมนตรีกลุ่ม G7 กล่าวว่าอาจจะมีการหารือกันเกี่ยวกับกฏข้อบังคับในตลาดการเงินเพื่อลดโอกาสในการเกิดวิกฤตการณ์การเงินในอนาคต
นายมาร์โค อันนันเซียตา นักวิเคราะห์จากยูนิเครดิต เอ็มไอบี ซึ่งเคยทำงานร่วมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวว่า "มีความเป็นไปได้สูงที่ผลการประชุม G7 ครั้งนี้จะสร้างความผิดหวังให้กับตลาด เราคาดว่าที่ประชุม G7 จะมีแนวทางคลี่คลายวิกฤตสินเชื่อไม่มากนัก"
การประชุม G7 จะเริ่มขึ้นในวันนี้ที่กรุงวอชิงตัน ซึ่งมีขึ้นหลังจากที่นายฌอง-คล้อด ทริเชต์ ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เตือนว่า ความผันผวนในตลาดการเงินอาจขยายวงกว้างจนส่งผลกระทบถึงทวีปยุโรปด้วย ขณะที่นายเฮนรี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐทรุดตัวลงอย่างมาก และธนาคารกลางอังกฤษตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวลงอย่างมาก
ด้านนายโทมัส เมเยอร์ นักวิเคราะห์จากดอยช์แบงค์กล่าวว่า "เราจับตาดูว่าผู้ว่าการแบงค์ชาติในกลุ่ม G7 จะร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาในตลาดสินเชื่อได้หรือไม่ แต่เราคาดว่าผลการประชุมจะทำให้นักลงทุนผิดหวัง"
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า มีโอกาส 25% ที่เศรษฐกิจโลกจะถดถอย ขณะที่นายจอร์จ โซรอส มหาเศรษฐีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินกล่าวว่า วิกฤตการณ์สินเชื่อทั่วโลกจะเข้าขั้นรุนแรงสุด โดยระบุว่าธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ทั่วโลกขาดทุนในตลาดสินเชื่อและปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีเป็นวงเงินรวม 2.32 แสนล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ต้นปี 2550 ซึ่งรวมถึงการตั้งสำรองบัญชีหนี้สูญ
"ปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินขณะนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขาดกฏระเบียบข้อบังคับที่รัดกุม ผมคาดว่าวิกฤตการณ์สินเชื่อจะเข้าขั้นรุนแรงสุด ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้น คณะทำงานของรัฐบาลสหรัฐไม่ได้ใช้ความพยายามมากพอในการตอบสนองวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น" โซรอสกล่าวกับผู้สื่อข่าว
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--