ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนธ.ค. 65 ฟื้นตัวต่อเนื่อง จากภาคบริการที่ขยายตัวดีตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสำคัญ สนับสนุนให้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้น ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้ายังได้รับผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรม และเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนลดลง
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสด และพลังงาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานโดยรวมฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ
ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือนม.ค. 66 มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยยังต้องติดตาม 3 ปัจจัย ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจโลก, ผลจากการเปิดประเทศ และมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของจีน และการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจเพิ่มขึ้น
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ ธปท. กล่าวว่า ในเดือนธ.ค.65 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในหลายสัญชาติ โดยเฉพาะมาเลเซีย และรัสเซีย ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมในภาคบริการ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง
โดยในเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา พบว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย อยู่ที่ 2.24 ล้านคน ส่วนในไตรมาส 4/65 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5.4 ล้านคน ส่งผลให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี อยู่ที่ 11.15 ล้านคน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ เป็นแรงส่งให้ภาคท่องเที่ยวและบริการ ขยายตัวได้ที่ระดับ 2.5% และการขนส่งผู้โดยสารก็ยังเติบโตได้ดีตามการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ยกเว้นภาคการค้าและการขนส่งสินค้าที่ยังได้รับแรงกดดันที่ส่งผ่านมาจากภาคการส่งออกที่ชะลอตัวลง
"ท่องเที่ยวดีขึ้น เพราะจีนเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาด ขณะที่ในไตรมาส 4/65 การส่งออกได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอ ดังนั้นปัจจัยที่มีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจจึงมีทั้งขาบวกและลบ โดยเฉพาะส่งออกที่แรงส่งอาจจะน้อยลง ดังนั้นส่งออกอาจจะไม่ได้วิ่งไปเหมือนกับภาคการท่องเที่ยว โดยอาจจะต้องรอดูปลายปีว่าภาพของเศรษฐกิจคู่ค้าที่อาจจะชัดเจนว่าไม่ได้แย่ แต่ช่วงนี้ส่งออกอาจจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจคู่ค้าชะลออยู่ระยะหนึ่ง ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจทั้งหมดของไทย อาจจะต้องรอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์" น.ส.ชญาวดี กล่าว
ส่วนเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากการใช้จ่ายหมวดบริการที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนยังดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจ้างงาน และความเชื่อมั่นผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมทั้งรายได้เกษตรกรในบางภูมิภาคที่ชะลอลง เป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในภาพรวม
ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน แต่ยังหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญที่ปรับดีขึ้นในเดือนนี้ ได้แก่ (1) หมวดสินค้าเกษตร อาทิ มันสำปะหลัง และทุเรียน (2) หมวดยานยนต์เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตทยอยคลี่คลาย และ (3) หมวดอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับดีขึ้นบ้างตามรอบการส่งมอบสินค้าของผู้ผลิต
การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า และหมวดเคมีภัณฑ์ ที่ลดลงตามอุปสงค์โลกที่ชะลอลง ขณะที่หมวดยานยนต์ปรับลดลงหลังจากได้ผลิตไปมากแล้วในเดือนก่อน อย่างไรก็ดี การผลิตบางหมวดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดปิโตรเลียมหลังจากได้ปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นครั้งใหญ่ในช่วงก่อนหน้า
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนลดลงจากเดือนก่อนในทุกหมวด โดยหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ลดลง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง ขณะที่หมวดก่อสร้างปรับลดลงจากทั้งยอดขายวัสดุก่อสร้างและพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นตามการกลับมาผลิตปิโตรเลียมหลังการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน และสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าโทรศัพท์มือถือและรถยนต์ไฟฟ้า
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนทรงตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางหดตัว จากผลของฐานสูงในปีก่อนเป็นสำคัญ สำหรับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายโครงการลงทุนด้านพลังงานและสาธารณูปโภค
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากผลของฐานต่ำในปีก่อน ทั้งในหมวดอาหารสด และหมวดพลังงาน รวมทั้งราคาผักที่เพิ่มขึ้นตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อย ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานโดยรวมทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เป็นบวกต่อเนื่อง
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัด กลับมาเกินดุลจากดุลการค้าที่เกินดุลเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่กลับมาเกินดุลเล็กน้อยตามรายรับภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น
ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยแข็งค่าขึ้นตามการเปิดประเทศของจีนที่เร็วกว่าตลาดคาด ส่งผลให้ตลาดมีมุมมองที่ดีต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทย รวมทั้งตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่ชะลอลง
ส่วนในเดือน ม.ค. 66 นั้น ยังคงเห็นภาพอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าต่อเนื่อง จากปัจจัยเดียวกับช่วงก่อนหน้า และยังมีปัจจัยเชิงฤดูกาลที่นักลงทุนปรับสัดส่วนสินทรัพย์การลงทุน ทำให้ดัชนีค่าเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นได้
"ถามว่าเงินแข็งค่ามาจากอะไร เหตุผลมีทั้งปัจจัยภายนอก และพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยในแง่การเคลื่อนไหวของค่าเงินตามใดที่ยังวิ่งสะท้อนพื้นฐานเศรษฐกิจ ก็ถือว่าเป็นไปตามกลไกตลาด การที่ค่าเงินช่วงนี้ผันผวน และมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น บอกได้ว่ามาจากรายรับของภาคการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงแบบที่คาด แต่ก็ยังมีความผันผวนในแง่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเราคงต้องดูเรื่องความผันผวนของค่าเงินมากกว่า หากค่าเงินผันผวนมากอาจจะต้องดูแลจะได้แบ่งเบาไม่ให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบ ส่วนเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายในขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณการเคลื่อนไหวของเงินทุนที่ผิดปกติ" นางสาวชญาวดี กล่าว
น.ส.ชญาวดี ยังกล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/65 ว่า ขยายตัวจากไตรมาสก่อน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นแรงส่งสำคัญ ทำให้ภาคบริการและเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกสินค้าปรับลดลงตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม และเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐของรัฐบาลกลาง ขยายตัวจากรายจ่ายประจำเป็นสำคัญ นอกจากนี้ การลงทุนรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายด้านพลังงานและสาธารณูปโภค
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลตามการเกินดุลการค้า ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลลดลง