กกร. ห่วงค่าไฟ-ดอกเบี้ย-บาทแข็ง กระทบต้นทุนผลิต

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 1, 2023 12:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ยังคงประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 เท่ากับประมาณการครั้งก่อนในเดือนม.ค. โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) จะอยู่ที่ 3.0-3.5% การส่งออก ขยายตัว 1-2% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ที่ระดับ 2.7-3.2%

โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวแต่มีความเสี่ยงจากภาคการส่งออก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้อาจมากกว่า 22.5 ล้านคนที่ประเมินไว้เดิม จากนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรป และสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด ขณะที่นักท่องเที่ยวจีน จะปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนในไตรมาสที่ 2

อย่างไรก็ดี กกร.ยังมีความเป็นห่วงเรื่องต้นทุนการผลิตที่ยังทรงตัวในระดับสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า รวมทั้งแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการ รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภค ผ่านราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานที่ประชุม กกร. ระบุว่า จากการหารือร่วมกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในด้านพลังงาน เมื่อวานนี้ (31 ม.ค.) เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้ช่วยลดการใช้ก๊าซธรรมชาติ โดยใช้พลังงานเชื้อเพลิงอื่นมาทดแทนไปส่วนหนึ่งแล้ว เพื่อทำให้การคำณวนค่า Ft ในรอบถัดไปมีอัตราที่ลดลง

ทั้งนี้ ที่ประชุม กกร. เสนอให้ปรับลดค่า Ft งวดที่ 2 สำหรับเดือน พ.ค - สค. 66 เนื่องจากมีปัจจัยหนุนในด้านการเพิ่มขึ้นของก๊ซธรรมชาติในอ่าวไทย และราคาก๊ชธรรมชาติจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มลดลง

นอกจากนี้ ที่ประชุมกกร. เห็นชอบแนวทางการจัดตั้ง กรอ.พลังงาน และให้สำนักงาน กกร. จัดทำโครงสร้างรูปแบบการทำงาน เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบเพื่อพิจารณาจัดตั้งต่อไป และระหว่างการจัดตั้ง กรอ. พลังงาน ขอให้มีคณะทำงาน Task Force ด้านพลังงาน (เฉพาะกิจ) เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา และสร้างความเข้าใจในด้านพลังงาน รวมถึงหารือมาตรการระยะสั้น-กลาง-ยาว โดยมีตัวแทน 3 ฝ่าย ได้แก่ สำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน (สนพ.) สำนักกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.)

สำหรับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมนั้น จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด เริ่มส่งผลให้เศรษฐกิจจีนมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน โดยดัชนีทางเศรษฐกิจของจีน ทั้งในฝั่งภาคการผลิตและภาคบริการ กลับมาขยายตัวได้ในเดือนมกราคม โดยเฉพาะในภาคบริการที่สะท้อนการเดินทางท่องเที่ยวของชาวจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีน สอดคล้องกับการประเมินล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะสามารถกลับมาขยายตัวได้ 5.2% ในปี 2566 สูงกว่าประมาณการเดิมที่ 4.49

ขณะที่เศรษฐกิจโลกปี 2566 มีแนวโน้มเติบโต 2.9% สูงกว่าประมาณการเดิมที่ 2.7% และคาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย ประกอบกับกิจกรรมการผลิตที่มีแนวโน้มฟื้นตัว จะช่วยพยุงภาคการส่งออกสินค้าในระยะข้างหน้า ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง

ส่วนเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็ว และมากกว่าเงินสกุลภูมิภาค แม้ว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมีปัจจัยพื้นฐานสนับสนุน อาทิ ดุลบัญชีเดินสะพัดที่กลับมาเกินดุลในไตรมาสที่ 4/2565 มุมมองของนักลงทุนที่เป็นบวกต่อการเปิดประเทศของจีน และค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า หลังจากตลาดคลายความกังวลต่อการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด แต่เงินบาทแข็งค่าไปราว 15% ตั้งแต่เดือนต.ค.65 และแข็งค่าถึง 5% ในช่วงเดือนม.ค.66 ซึ่งแข็งค่ามากและเร็วกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาคอย่างชัดเจน จึงเป็นปัจจัยกดดันความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของไทยในภาวะที่ความต้องการสินค้าชะลอตัว

นายเกรียงไกร กล่าวว่า การส่งออกของไทยมีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงต้นปี 66 และต้องติดตามปัจจัยที่มีผลกระทบอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการแข็งค่าของค่าเงินบาท การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งแม้ว่าจีนจะฟื้นตัวได้เร็ว แต่อาจไม่เพียงพอที่จะทดแทนความต้องการสินค้าจากประเทศหลักอื่นๆ

นอกจากนี้ ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคบริการ เป็นอีกประเด็นที่ภาครัฐต้องมีมาตรการสนับสนุน เพื่อเตรียมความพร้อมด้านแรงงานให้เพียงพอรองรับการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่ง กกร.จะไปหารือกับกระทรวงแรงงาน เพื่อเร่งจัดหาเข้าสู่ภาคบริการ ซึ่งไตรมาสที่ 2 น่าจะนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ