ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ยังคงคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 2.25% ภายในไตรมาส 3/66 หลังจากเมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี เป็น 1.50% อันเป็นผลจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ลดลง รวมถึงมุมมองต่อภาคการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น ภายหลังการเปิดประเทศจีน
อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังคงแนะให้จับตาแนวโน้มเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมถึงความเสี่ยงขาขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อจากด้านอุปสงค์ที่อาจจะเพิ่มขึ้นด้วย
น.ส.นลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคาร ซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า โมเมนตัมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระหว่างปี 66-67 ยังอยู่ในเชิงบวก แม้ว่าธปท.ยังมีความกังวลหนี้ครัวเรือนและธุรกิจ SMEs แต่ ธปท. ยังคงมองว่าสินเชื่อภาคเอกชนยังสามารถโตต่อได้ แม้อัตราดอกเบี้ยและต้นทุนทางการเงินปรับสูงขึ้น ซิตี้แบงก์คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีหน้าจะเฉลี่ยที่ 2.2% ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริง จะทยอยปรับขึ้นจากระดับติดลบสู่ระดับ 0% ถือว่าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในอดีต
ทั้งนี้ ซิตี้แบงก์มองว่า ปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะทำให้ ธปท. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายน้อยกว่าที่คาด คือ 1) ภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจจะชะลอตัวมากกว่าที่คาดไว้เดิม และอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย และ 2) หากเงินบาทแข็งค่ารวดเร็วเกินไป อาจทำให้ กนง.บางท่าน พิจารณาการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ซิตี้แบงก์มองว่า การแข็งค่าของเงินบาทล่าสุด ยังไม่น่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ กนง.กังวลในระยะนี้ แม้ว่าการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงนี้ ทำให้เกิดความกังวลถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในบางภาคส่วน อาทิ ผู้ส่งออก อนึ่ง อัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของนโยบายทางการเงิน ซึ่งประกอบไปด้วย การเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจ เสถียรภาพด้านราคา และเสถียรภาพระบบการเงิน
โดยในช่วงการแถลงข่าววันที่ 25 มกราคม 2566 นายปิติ ดิษยธัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. ระบว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจ และไม่จำเป็นต้องมีมาตรการพิเศษมาดูแล
ในขณะเดียวกัน มุมมองด้านเงินเฟ้อในประเทศของธปท.ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากจากการประชุมเดือน พฤศจิกายน โดยมองว่า การที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกลดลงช่วยลดความกดดันเงินเฟ้อจากด้านอุปทานในประเทศไทย พร้อมยังมองว่าการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะกลางของเอกชนยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ที่ 1-3% ของเป้าหมายนโยบายการเงิน
อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังคงมองว่าต้องจับตาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงกว่าในอดีตมาก ซึ่งธปท.สังเกตว่า เครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อล่าสุด แสดงให้เห็นถึงแรงกดดันของเงินเฟ้อที่ยังสูงอยู่ และยังคงต้องระมัดระวังการส่งผ่านต้นทุนการผลิตที่ยังไม่สิ้นสุดไปยังราคาสินค้าผู้บริโภคในช่วงต่อไป โดยเฉพาะจากค่าไฟฟ้าที่ได้ปรับขึ้นมาช่วงก่อนหน้านี้ 2566 ตลอดจนการฟื้นตัวเพิ่มขึ้นของภาคการท่องเที่ยวอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากปัจจัยด้านอุปสงค์อีกด้วย