คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เห็นชอบหลักการของมาตรการสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่ด้วยการให้เงินสนับสนุนวงเงิน 24,000 ล้านบาท สำหรับการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตแบตแตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งสิทธิประโยชน์ด้านภาษีสรรพสามิตจาก 8% ลดเหลือ 1%
สำหรับมาตรการด้านแบตเตอรี่ถือเป็นเรื่องที่ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าต่างรอความชัดเจน เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากหากมีราคาถูกลงจะช่วยในการส่งเสริม Ecosystem ของยานยนต์ไฟฟ้าได้ เพื่อให้เป็น New S-Curve ที่จะกลายเป็นอนาคตที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ GDP ของประเทศไทย และเพิ่มอัตราการจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์อีกด้วย
โดยเงินสนับสนุนดังกล่าว จะขึ้นกับขนาดของโรงงานผลิตแบตเตอรี่และความจุพลังงานจำเพาะของแบตเตอรี่
- หากเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดต่ำกว่า 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุนระหว่าง 400-600 บาท/kWh
- หากเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดสูงกว่า 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุนระหว่าง 600-800 บาท/kWh
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน กล่าวว่า เนื่องจาก วงเงินงบประมาณมีจำนวนจำกัด การให้เงินสนับสนุนจะอยู่บนหลักการ "ลงทุนผลิตก่อน ได้รับเงินสนับสนุนก่อน" โดยเงินสนับสนุนที่ภาครัฐให้กับผู้ผลิตแบตเตอรี่จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตของรถยนต์ไฟฟ้าถูกลง ส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้าขายในตลาดมีราคาถูกลงด้วย
ขณะนี้ประเทศไทยได้รับความสนใจจากผู้ผลิตแบตเตอรี่ยักษ์ใหญ่ระดับโลกในการมาลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่อีวีในประเทศ เพราะปัจจัยบวกหลายประการ เช่น
1.ภาครัฐได้กำหนดเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 หรือ การผลิต 30 %ในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ที่ชัดเจนและออกมาตรการส่งเสริมในด้าน Demand-Supply อย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจมากขึ้น
2.ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากมาตรการให้เงินสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าซึ่งบอร์ดอีวีได้อนุมัติไปเมื่อปีที่แล้ว และ 3.การที่ผู้ผลิตรถยนต์จากค่ายจีน และค่ายยุโรป ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของผู้ผลิตแบตเตอรี่ได้มีการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยแล้ว
นอกจากนี้ บอร์ดอีวีได้มีการพิจารณาประเด็นสำคัญ เช่น มาตรการขับเคลื่อนการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ซึ่งเป็นรถยนต์กลุ่มใหญ่ของประเทศ ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าได้ การจัดตั้งคณะอนุกรรมการที่ดูแลเรื่องการดัดแปลงรถยนต์ใช้แล้วเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV Conversion)
รวมทั้ง รับทราบความคืบหน้าของการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ ซึ่งในขณะนี้ ระเบียบสามารถเปิดให้หน่วยงานราชการจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อใช้ในหน่วยงานได้แล้ว ซึ่งมาตรการส่งเสริมในด้าน Demand-Supply เหล่านี้ ประกอบกับมาตรการสนับสนุนการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) จะเป็นส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกได้