กระทรวงพาณิชย์ ระบุ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนม.ค. 66 ขยายตัว 5.02% ต่ำกว่าตลาดคาด โดยอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ตามการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน และอาหาร ขณะที่อุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้การใช้จ่ายในช่วงเทศกาลทั้งปีใหม่ และตรุษจีน คึกคักกว่าปีที่ผ่านมา
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมสินค้าหมวดอาหารสด และพลังงานในเดือนม.ค. 66 ขยายตัว 3.04%
โดยกระทรวงพาณิชย์ คาดว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในเดือนก.พ. 66 จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง และเชื่อว่าจะไม่สูงถึง 5%
นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เดือนม.ค.66 อยู่ที่ 108.18 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 5.02% ชะลอตัวลงจากเดือนธ.ค.65 ซึ่งอยู่ที่ 5.89%
"เงินเฟ้อในเดือนม.ค.ที่เริ่มชะลอตัวลง เป็นอิทธิพลหลักๆ จากราคาน้ำมัน เพราะเงินเฟ้อที่ 5.02% ในเดือนนี้ มีสัดส่วนของน้ำมันไปเกือบ 1% แล้ว ดังนั้นเมื่อน้ำมันลด เงินเฟ้อก็ลดลงตาม" รองผู้อำนวยการ สนค.ระบุ
สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อเดือนก.พ.66 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ลดลง โดยปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อขยายตัว ยังคงเป็นราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเงินเฟ้อ และราคาสินค้าในกลุ่มอาหารที่ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งค่าวัตถุดิบ ค่าขนส่ง และค่าจ้างแรงงาน ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว และนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งจะทำให้ความต้องการบริโภคโดยรวม และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชะลอตัว และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าของไทยลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อของไทยไม่สูงมากนัก
รองผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า ในปี 66 กระทรวงพาณิชย์ ได้ตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ในช่วง 2-3% หรือค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ 2.5% โดยขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะได้ลดความกังวลเรื่องต้นทุนสินค้าจากฝั่งโรงงานผู้ผลิต เนื่องจากราคาที่นำเข้าสินค้าประเภทวัตถุดิบ และสินค้ากึ่งสำเร็จรูป ปรับตัวลดลงตามต้นทุนพลังงานที่ลดลง โดยเฉพาะราคาน้ำมัน
ขณะที่ การเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกนี้ สนค. ได้รวมอยู่ในปัจจัยที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อของทั้งปีนี้แล้ว
"ปีนี้ ความกังวลในแง่ต้นทุนสินค้าที่ออกจากโรงงาน เบาลงไปเยอะกว่าปี 65 ซึ่งในปีนั้น เราต้องใช้มาตรการคุมราคาสินค้าค่อนข้างเยอะ แต่ปัจจุบัน แรงกดดันด้านต้นทุนจากฝั่งผู้ผลิตลดลง เราเบาใจลงได้มากกว่าปีก่อน" นายวิชานัน ระบุ
อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสินค้าที่ราคายังมีโอกาสผันผวนได้ เช่น พืช ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ซึ่งความผันผวนของราคามักขึ้นกับปัจจัยสภาพอากาศ และฤดูกาล เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม และโรคระบาด