ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 46.0 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 49.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 60.2
"การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทุกรายการ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมาเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น และจะเริ่มจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับในไตรมาสแรกของปีนี้" นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ระบุ
โดยปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ 1.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ที่มอบเป็นของขวัญปีใหม่ 66 แก่ประชาชน เช่น มาตรการช้อปดีมีคืน, มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง, มาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงิน 2.นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากขึ้น โดยเฉพาะจีนภายหลังจากการเปิดประเทศ 3.ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดี เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และช่วยเพิ่มกำลังซื้อในต่างจังหวัด 3.เงินบาทปรับตัวแข็งค่า สะท้อนถึงการไหลเข้าสุทธิของเงินตราต่างประเทศ
ขณะที่ยังมีปัจจัยลบ ได้แก่ 1.ผู้บริโภคยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า และรายได้ยังไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น 2.คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% 3. กระทรวงการคลัง ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 66 เหลือโต 3.0% จากเดิมคาด 3.4% จากผลของการส่งออกไทยที่หดตัวต่อเนื่องหลายเดือน 4.ความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่จะกระทบต่อราคาน้ำมันโลก และต้นทุนสินค้า 5.กังวลต่อปัญหาระบาดโควิด-19 ที่ยังมีการแพร่ระบาด
นายธนวรรธน์ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค.66 ที่ปรับตัวดีขึ้นสูงสุดในรอบ 26 เดือนนั้น ทำให้เห็นถึงมุมมองของผู้บริโภคที่เริ่มมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้น จากปัจจุบันที่เศรษฐกิจในประเทศเริ่มกลับมาคึกคัก ธุรกิจห้างร้านเปิดดำเนินกิจการได้เหมือนช่วงก่อนมีโควิด ภายหลังจากมีการเปิดประเทศ และนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อในภาคประชาชนเริ่มกลับมา โดยจะเห็นได้จากความต้องการซื้อสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์
อย่างไรก็ดี กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยเศรษฐกิจไทยยังเป็นลักษณะ K shape กล่าวคือ เป็นกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้สูง ในขณะที่ผู้มีรายได้ปานกลาง และผู้มีรายได้น้อย ยังมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย เนื่องจากยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในลักษณะ K shape นี้จะยังคงอยู่ไปตลอดช่วงครึ่งปีแรก
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากแนวโน้มของการเลือกตั้งใหม่ที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนพ.ค. ทำให้มีการประเมินว่าจะมีเม็ดเงินจากการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งปีนี้ราว 5 หมื่นล้านบาท มากกว่าในช่วงการเลือกตั้งใหญ่ปี 62 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากพรรคการเมืองเริ่มดำเนินกิจกรรมรณรงค์หาเสียงก่อนการเลือกตั้งนานขึ้น ซึ่งเม็ดเงินจากการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่จะกระจายไปสู่ธุรกิจ ร้านค้าต่างๆ จะช่วยสร้างกำลังซื้อ การจับจ่ายใช้ของประชาชนให้เพิ่มขึ้น
พร้อมกันนี้ ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเด่นชัดขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป และฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีนี้ จะโตได้ใกล้เคียง 4%
"เมื่อมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ การโหมโรงเพื่อรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ก็น่าจะมีเม็ดเงินสะพัดจากการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวได้ชัดเจนขึ้นช่วงกลางปี และทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการช่วงเดือนมิ.ย. ก.ค. ดีขึ้นกว่าในช่วงก่อนมีโควิด และจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสมากขึ้นที่จะโตได้ 3.9 หรือ 4%" นายธนวรรธน์ ระบุ