นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึง ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนม.ค.66 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 23-31 ม.ค.66 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 47.4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 45.5 ในเดือนธ.ค.65
โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้
- กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 46.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 44.8
- ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 47.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 46.1
- ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 50.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 48.8
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 46.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 45.1
- ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 47.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 45.1
- ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 45.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 43.8
ปัจจัยบวก ได้แก่
1. นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยมีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากจีนยกเลิกมาตรการคุมโควิด และอนุญาตให้ประชาชนเดินทางออกนอกประเทศได้ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.66
2. รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 66 ให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการช้อปดีมีคืน, มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น
3. การผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ทำให้การดำเนินชีวิตกลับมาเป็นปกติ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลท่องเที่ยว และการจับจ่ายใช้สอย อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
4. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น
5. เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย
ปัจจัยลบ ได้แก่
1. เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกที่คาดว่าจะชะลอลง
2. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ต่อปี จาก 1.25% สู่ระดับ 1.50%
3. การส่งออกของไทยเดือนธ.ค.65 ลดลง 14.56% และยังคงขาดดุลการค้า 1,033 ล้านดอลลาร์
4. ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้น
5. สถานการณ์ความขัดแย้งในรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงจีน-ไต้หวัน ที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และทำให้ราคาพลังงาน อาหาร และเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น
6. ความกังวลต่อสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงเกิดขึ้นทั่วโลก ท่ามกลางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น จึงทำให้ประชาชนยังระมัดระวังในการดำเนินชีวิต
โดยภาคธุรกิจได้เสนอแนวทางดำเนินการในการแก้ไขปัญหา ดังนี้
- ช่วยดูแลต้นทุนการประกอบธุรกิจที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จากค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น เพราะปัจจัยด้านพลังงานถือเป็นต้นทุนที่สำคัญต่อภาคธุรกิจ
- ดูแลสภาพคล่องทางการเงิน ในการดำเนินกิจกรรมของภาคธุรกิจ เช่น อัตราดอกเบี้ย และค่าเงินบาท เพื่อให้เอื้อต่อภาคธุรกิจส่งออกและนำเข้าอย่างเหมาะสม
- ดูแลปัญหาการว่างงานจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ จึงทำให้ผู้ประกอบการไม่พร้อมที่จะดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจได้อย่างเต็มที่
- หามาตรการรับมือในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อาจจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังจากเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนม.ค.66 ซึ่งอยู่ที่ 47.4 ถือว่าสูงสุดในรอบ 3 ปี 7 เดือน นับตั้งแต่ ก.ค.62 เนื่องจากผู้ประกอบการมีมุมมองว่าสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย การบริโภคและความต้องการซื้อของประชาชนเริ่มกลับมา โดยผู้ประกอบธุรกิจในทุกภาคมองว่าการท่องเที่ยวที่คึกคักเป็นปัจจัยบวกสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ และต้องการให้รัฐบาลช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวไทย
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังไม่ได้วางใจสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดมากนัก เนื่องจากกลัวว่าโควิดอาจจะกลับมาระบาดได้อีก จากการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศมากขึ้น
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าภาคธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศ คือ กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจบริการ เช่น โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ในขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวกับการส่งออกอาจจะชะลอตัวบ้าง จากความกังวลภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และห่วงเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ท่ามกลางรายได้ที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก