รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สาย วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตก (M9) จำนวน 2 โครงการได้แก่ มอเตอร์เวย์ (M9) ทางยกระดับ ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทางประมาณ 36 กิโลเมตรวงเงินลงทุน 56,035 ล้านบาท และมอเตอร์เวย์ ( M9 )ช่วงบางบัวทอง -บางปะอิน ระยะทาง 35 กิโลเมตรวงเงินลงทุน 23,025 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการ PPP เห็นชอบแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอน กระทรวงคมนาคมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติโครงการ และเห็นชอบการใช้แหล่งเงินลงทุน
ทั้งนี้ ตามขั้นตอน หลังจาก ครม.เห็นชอบ จึงจะดำเนินการขั้นตอนแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือก หากเสนอ ครม.ได้ทันในรัฐบาลนี้ก็ คาดว่าจะสามารถเปิดการประกวดราคาได้ภายในปลายปี 66
สำหรับ M9 ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง จะเป็นการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ยกระดับบริเวณเกาะกลางถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก และจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น ( M-Flow) คิดตามระยะทาง
ส่วน M9 ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน จะเป็นการปรับปรุงถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกระดับพื้นให้เป็นมอเตอร์เวย์ขนาด 6 ช่องจราจร จัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) คิดตามระยะทาง ส่วนทางคู่ขนานข้างละ 3 ช่องจราจร ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 66 ไม่มีการเก็บค่าผ่านทาง
นอกจากนี้ ยังมีโครงการมอเตอร์เวย์ที่อยู่ในขั้นตอนที่รอเสนอคณะกรรมการ PPP เห็นชอบ คือ ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) (M5) ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. มูลค่าโครงการ 28,360 ล้านบาท
โครงการนี้ ใช้รูปแบบ การลงทุน PPP Gross Cost คือ เอกชนลงทุนงานโยธา บวกติดตั้งระบบ O&M และรับจ้างบริหารโครงการ โดยรัฐจ่ายคืนค่าลงทุนส่วนงานโยธาและค่าลงทุนระบบ O&M และค่าจ้างงาน O&M ซึ่งในส่วนของค่าก่อสร้างงานโยธา จะใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์จ่ายคืนเอกชน โดยจะเริ่มจ่ายค่างานโยธาเมื่องานก่อสร้างเสร็จแล้ว
การกำหนดรูปแบบการจ่ายคืนค่าก่อสร้างแบบนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานะการเงินกองทุนมอเตอร์เวย์ ที่ปัจจุบันมีภาระในการจ่ายค่าก่อสร้างงานโยธา สายบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว (M82) ประเมินว่าสายนี้จะสร้างเสร็จปี 67 ซึ่งจะทำให้การบริหารสถานะกองทุนคล่องตัว
ส่วนโครงการ มอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ (M8) ระยะทาง 109 กม.วงเงินลงทุน 79,006 ล้านบาท เดิมบอร์ด PPP อนุมัติแล้ว ลงทุนรูปแบบ PPP Net Cost แต่เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ จ.เพชรบุรี คัดค้านการก่อสร้าง จึงต้องทบทวนผลการศึกษาโครงการใหม่ ปรับปรุงแบบ ทบทวนค่าก่อสร้าง และอยู่ระหว่างสรุปรูปแบบการลงทุน แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกช่วงนครชัยศรี-ปากท่อ ระยะทาง 61 กม. รวมวงเงินลงทุน 43,227.16 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 29,156 ล้านบาท ค่างานระบบ 1,783.29 ล้านบาท ค่าเวนคืน 12,287.87 ล้านบาท จะดำเนินการก่อน เนื่องจากไม่ติดปัญหาเรื่องพื้นที่ คาดว่าจะทบทวนการศึกษาเสร็จในปี 2566
หลักการเส้นทางนี้จะเหมือนกับมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา คือ. PPP Gross Cost โดยที่รัฐลงทุนงานโยธา และเอกชนลงทุนงานระบบO&M โดยจะนำเสนอโครงการขออนุมัติคอรมเพื่อดำเนินการในส่วนของงานโยธา ส่วนงานระบบ O&M จะเสนอบอร์ด PPP อนุมัติ
สำหรัมอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ชะอำ กรมทางหลวงพยายามผลักดัน เนื่องจากเส้นทางที่เชื่อมการเดินทาง ของกทม.ด้านตะวันตกที่เมืองขยายตัวอย่างมาก มีปริมาณจราจรสูงจำเป็นต้องมีเส้นทางแนวใหม่ ที่รองรับปริมาณรถลงสู่ภาคใต้ และช่วยลดภาระของถนนพระราม2 และมอเตอร์เวย์ 82 (ทางยกระดับพระราม2 ) และโครงข่ายยังต่อเชื่อมกับมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M 81 ) อีกด้วย