นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 66 กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชน ตั้งเป้าหมายการส่งออกไทยในปี 66 ไว้ที่ 1-2% จากปี 65 คิดเป็นมูลค่า 289,937-292,808 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 10-10.1 ล้านล้านบาท โดยแต่ละเดือนต้องมีมูลค่าส่งออกเฉลี่ย 24,161-24,400 ล้านเหรียญฯ คำนวณจากค่าเงินบาทที่ 34.5 บาทต่อเหรียญฯ
"เป้าหมายการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 24,000 ล้านเหรียญฯ เป็นตัวเลขที่มีความท้าทายมาก เพราะถ้าดูมูลค่าส่งออกเฉลี่ยย้อนหลังไป 5 ปีคือตั้งแต่ปี 61-65 ไทยส่งออกดีสุดแค่เกือบแตะ 24,000 ล้านเหรียญฯ หรือเฉลี่ยดีสุดอยู่ที่ 22,922 ล้านเหรียญฯเท่านั้น แต่กระทรวงพาณิชย์ จะร่วมมือกับผู้ส่งออกอย่างใกล้ชิด ผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย" นายภูสิต กล่าว
สำหรับแผนการผลักดันการส่งออก ที่จะดำเนินการตลอดทั้งปี 66 มีทั้งสิ้น 195 แผนงาน และ 450 กิจกรรมย่อย ภายใต้งบประมาณ 1,800 ล้านบาท นอกจากนี้ กรมฯ เตรียมขยายตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ตะวันออกกลาง ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าส่งออกโต 20%, เอเชียใต้ ตั้งเป้าเพิ่ม 10%, จีน เพิ่ม 1% จากปีที่ผ่านมา ติดลบ 7%, ตลาด CLMV เพิ่ม 15% ขณะที่ตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น ยังคงรักษาตลาดไว้
ส่วนตลาดใหม่ที่จะต้องขยายโอกาสทางการค้า การส่งออกให้มากขึ้น เช่น ตลาดนอร์ดิก อาทิ เดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ และตลาดเอเชียกลาง ซึ่งจะพยายามสร้างความรู้ความเข้าใจผู้ส่งออก ก่อนที่จะผลักดันการส่งออกต่อไป
ในส่วนของการค้าออนไลน์ จะผลักดันเพิ่มจำนวนร้าน TOPTHAI บนแพลตฟอร์มออนไลน์ชั้นนำเพิ่มขึ้น เช่น Amazon Global Selling Thailand (สหรัฐฯ) eBay (สหรัฐฯ ออสเตรเลีย) Lazada (มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม) AbouThai (ฮ่องกง จีน) และ Pinkoi (ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น)
ปัจจุบันมีร้านบน 7 แพลตฟอร์ม ครอบคลุม 9 ประเทศแล้ว ได้แก่ Amazon (สหรัฐฯ) Tmall ในเครือ Alibaba Group (จีน) Bigbasket (อินเดีย) Klangthai (กัมพูชา) Blibli (อินโดนีเซีย) PChome (ไต้หวัน) และ Shopee (มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์) โดยปัจจุบันมีสินค้าที่เข้าร่วมในร้านกว่า 200 แบรนด์
"การส่งออกไทยในปีนี้ ยังเห็นโอกาสการเติบโตการส่งออกและสินค้าที่ยังเป็นโอกาส เช่น อาหาร กลุ่มอุตสาหกรรม และแม้ว่าในช่วงไตรมาสแรก การสั่งซื้ออาจจะชะลอตัวบ้าง เพราะผู้นำเข้าเร่งสั่งซื้อไปก่อนตั้งแต่โควิด และยังมีสต็อกสินค้าคงเหลืออยู่ แต่เชื่อว่าความต้องการซื้อ จะมีมากขึ้นในระยะถัดไป ซึ่งจะทำให้การส่งออกทั้งปีโตได้ตามเป้าหมาย" นายภูสิต กล่าว
ขณะที่วิสัยทัศน์การทำงานในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 70 กรมฯ ตั้งเป้าหมายจะผลักดันให้ไทยติดอันดับ 1 ใน 5 ประเทศ ที่มีความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าระหว่างของเอเชีย จากปัจจุบัน International Institute for Management Development (สถาบัน IMD) สวิตเซอร์แลนด์ จัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ในอันดับ 8 ของเอเชีย และอันดับ 9 ด้านมูลค่าการส่งออกของเอเชีย
"เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะนอกจากที่เราจะต้องแข่งขันกับคู่แข่งที่อยู่ในอันดับที่ 5 แล้ว ยังต้องแข่งขันกับหลายประเทศ ที่พยายามจะเพิ่มขีดความสามารถให้มากขึ้น รวมไปถึงปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่เกี่ยวข้อง แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นไปได้ เพราะไทยเร่งเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ และหลายกลุ่มประเทศ เดินหน้าจัดทำ Mini FTA เจาะตลาดเมืองรอง ผลักดันการส่งออกสินค้าใหม่ๆ ตามเทรนด์ของตลาด และเจาะตลาดใหม่เพิ่มขึ้น" นายภูสิต กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 65 IMD จัดอันดับความสามารถการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยไทยอยู่อันดับ 8 อันดับ 1 คือ สิงคโปร์ รองลงมา คือ ฮ่องกง มาเลเซีย จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และไทย ส่วนด้านมูลค่าการส่งออก ไทยอยู่อันดับ 9 ของเอเชีย อันดับ 1 คือ จีนและฮ่องกง รองลงมา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน อินเดีย เวียดนาม และมาเลเซีย และเมื่อเทียบกับทั่วโลก ไทยมีส่วนแบ่งตลาดด้านการค้าระหว่างประเทศอยู่อันดับ 26