ภาษีบุหรี่พ่นพิษ ยสท.รายได้หด เร่งทบทวนแผนธุรกิจ เน้นผลิต-เลิกขาย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 13, 2023 09:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ภาษีบุหรี่พ่นพิษ ยสท.รายได้หด เร่งทบทวนแผนธุรกิจ เน้นผลิต-เลิกขาย

นายภูมิจิตต์ พงษ์พันธุ์งาม ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ส่งผลให้ราคาบุหรี่ในประเทศปรับขึ้นมาก จากเดิมบุหรี่ในประเทศราคาซองละ 51 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 60 และ 66 บาท ส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปสูบบุหรี่ที่เป็นนวัตกรรมทางเลือกเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีการลักลอบนำเข้าบุหรี่หนีภาษีที่มีราคาต่ำกว่าบุหรี่ในประเทศหลายเท่าตัวเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ผลกระทบภายหลังจากการปรับโครงสร้างอัตราภาษีใหม่ ทำให้รายได้ของ ยสท.ในปี 2560-2565 ลดลงไปมาก โดยจากที่เคยมีกำไรปีละ 8,000-9,000 ล้านบาท แต่ล่าสุดในปี 2565 ลดลงเหลือราว 100 ล้านบาท ในขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดลดลงเหลือเพียง 40% จากเดิมอยู่ที่ 80%

"ขณะนี้ ยสท.อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลัง และกรมสรรพสามิต ถึงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ควรจะเป็นอย่างไร ต้องมีการทบทวนใหม่ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้โครงสร้างภาษีเหมาะสม โดยให้ ยสท.ยังดำรงได้อยู่ ธุรกิจของ ยสท. เป็นการดูแลชาวไร่ใบยาสูบด้วย เพราะบุหรี่ทุกมวนรับซื้อจากชาวไร่โดยตรง" นายภูมิจิตต์ กล่าว

พร้อมกันนี้ ยสท.อยู่ระหว่างว่าจ้างบริษัทเอกชน หรือมหาวิทยาลัย ให้เข้ามาช่วยศึกษาโครงสร้างธุรกิจของ ยสท. ซึ่งหากเมื่อเทียบกับบริษัทเอกชนที่มีการทบทวนแผนธุรกิจทุกปี แต่ ยสท. ไม่เคยมีการทบทวนเลยกว่า 80 ปี ดังนั้น จึงต้องมีผลการศึกษาความเหมาะสมการทำธุรกิจของยาสูบในสภาวการณ์ปัจจุบันนี้ว่าควรจะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ มองว่าสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทำให้ ยสท.ต้องมาทบทวนบทบาทใหม่ ซึ่ง ยสท.อาจจะไม่เหมาะกับการขายบุหรี่ อาจจะเหมาะกับผลิตอย่างเดียวก็เป็นได้ ดังนั้น อาจจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้าง ตั้งบริษัทลูก หรือเป็นบริษัทสัมปทาน มีการแบ่งปันผลประโยชน์ หรืออาจเป็นรูปแบบการร่วมลงทุนกับเอกชน ซึ่งจะต้องรอให้มีผลการศึกษาออกมาก่อน โดยคาดว่าจะมีข้อสรุปผลการศึกษาภายใน 3-4 เดือนจากนี้

นายภูมิจิตต์ ยอมรับว่า จากระเบียบและข้อกฎหมายต่าง ๆ ทำให้ ยสท. แข่งขันกับเอกชนได้ยาก ไม่คล่องตัว ช่องทางการจำหน่ายก็มีปัญหาที่ร้านโมเดิร์นเทรด มากินตลาดร้านแบบดั้งเดิม มีการตัดราคากัน ผู้ค้าบุหรี่เอกชน มีเครดิตเทอม มีค่าคอมมิชชั่นให้พนักงานขาย สามารถวางแผนการทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นสิ่งที่ ยสท.ไม่สามารถทำได้

"ที่ผ่านมา เหมือนเรารู้ว่าเราป่วย แต่ไม่รู้ว่าป่วยเป็นอะไร ดังนั้นเราจะให้ Outsource เข้ามาช่วยสแกน เหมือนเป็นหมอ ให้เข้ามาช่วยดูอาการว่าเราป่วยเป็นอะไร และต้องรักษาอย่างไร...เราอาจจะไม่เหมาะกับการขาย แต่เหมาะกับการผลิต ก็ต้องมาทบทวนในส่วนนี้ เพราะความคล่องตัวในเรื่องการขายของรัฐ ไม่เท่ากับเอกชน" ผู้ว่าฯ ยสท.กล่าว

นายภูมิจิตต์ ยังกล่าวถึงผลดำเนินงาน ยสท.ล่าสุดในปี 2565 ว่า มีผลกำไรสุทธิ 120 ล้านบาท ส่วน 4 เดือนแรกของปี 2566 มีแนวโน้มดีกว่าที่คาด โดยมีกำไรสูงกว่า 20 ล้านบาทต่อเดือน ตั้งเป้าหมายกำไรสุทธิทั้งปี 240 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ