กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.50-34.20 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 33.78 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 33.41-33.78 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดรอบ 1 เดือน ท่ามกลางแรงซื้อเงินดอลลาร์ในตลาดโลก
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ ขณะที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ระบุว่าข้อมูลการจ้างงานที่แข็งแกร่งมาก แสดงให้เห็นเหตุผลว่าการควบคุมเงินเฟ้อจะต้องใช้เวลาพอสมควร โดยเฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่าที่คาดไว้กรณีที่ขาดความก้าวหน้าในการทำให้เงินเฟ้อลดลง
อย่างไรก็ดี ประธานเฟดเน้นย้ำว่ากระบวนการที่ทำให้เงินเฟ้อลดลง (Disinflationary Process) กำลังเกิดขึ้น และเฟดกำลังจับตาดูว่าภาวะดังกล่าวกระจายไปยังภาคบริการได้เร็วเพียงใด ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดทบทวนคาดการณ์ดอกเบี้ยปลายทางของเฟดสู่ระดับสูงกว่า 5.1% ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 14,755 ล้านบาท และ 10,253 ล้านบาท ตามลำดับ
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองสถานการณ์ในสัปดาห์นี้ว่า ตลาดจะติดตามตัวเลขเงินเฟ้อเดือนม.ค.ของสหรัฐฯ โดยค่าเงินดอลลาร์จะได้แรงหนุนต่อเนื่อง หากเงินเฟ้อสูงเกินคาด แต่กรณีที่ตัวเลขต่ำกว่าหรือใกล้เคียงกับที่นักลงทุนคาดไว้ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์อาจเป็นไปอย่างจำกัด นอกจากนี้ การเสนอชื่อผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) คนใหม่อย่างเป็นทางการ จะสร้างความผันผวนให้กับเงินเยน อย่างไรก็ตาม เรายังคงมุมมองที่ว่าในที่สุดแล้วบีโอเจจะปรับนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น และจะเป็นปัจจัยบวกสำหรับค่าเงินเยนในปีนี้
สำหรับปัจจัยในประเทศ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับการแถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/65 ของสภาพัฒน์ ในวันที่ 17 ก.พ. ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 5.02% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าที่สุดในรอบ 9 เดือน ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมอาหารสดและพลังงานสูงขึ้น 3.04% ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนก.พ. จะขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่า 5% และคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปีนี้ในกรอบ 2-3%
ทางด้านกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย เรามองว่าต่างชาติยังคงมีแนวโน้มปรับสถานะการลงทุนในสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่อีกสักระยะหลังเกิดการ Re-price ทิศทางนโยบายการเงินสหรัฐฯ ไปในทางแข็งกร้าวนานกว่าที่ประเมินไว้เดิม รวมถึงผลจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์เช่นกัน