นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ที่มีข่าวทุนจีนสีเทาเข้ามาทำธุรกิจในไทยมากขึ้น เช่น ร้านอาหารย่านเยาวราช หรือย่านห้วยขวางนั้น กรมฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบธุรกิจที่มีคนต่างชาติร่วมถือหุ้น ซึ่งไม่เฉพาะแค่ชาวจีนถือหุ้นเท่านั้น แต่จะเน้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงแรม ที่พัก รถเช่า ร้านขายของที่ระลึก ธุรกิจนวด-สปา เป็นต้น ทั้งในย่านเยาวราช รัชดาภิเษก ห้วยขวาง และสัมพันธวงศ์ รวมประมาณ 200 บริษัท เพื่อป้องกันนอมินี แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าทั้ง 200 รายเข้าข่ายเป็นนอมินี
โดยการตรวจสอบนั้น จะดูว่าประกอบธุรกิจอะไร ถ้าเป็นธุรกิจที่อยู่ในบัญชีแนบท้าย 1, 2 ของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จะถือเป็นธุรกิจต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวอยู่แล้ว โดยจะไม่สามารถทำธุรกิจเหล่านี้ได้ ส่วนบัญชี 3 ที่จะต้องขออนุญาตก่อนนั้น ได้มีการขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ได้ขอก่อน จะถือว่าผิดกฎหมาย รวมถึงเข้าไปดูสัดส่วนการถือหุ้น การมีอำนาจบริหารจัดการ งบการเงิน ถ้าในงบการเงินระบุว่าประกอบธุรกิจในบัญชีแนบท้าย ก็เป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าอาจเข้าข่ายเป็นนอมินี
"การตรวจสอบต้องใช้ระยะเวลา ต้องทำอย่างละเอียด รอบคอบ ซึ่งจากการตรวจสอบ บางบริษัท กรมฯ ได้ขอให้ส่งเอกสารหลักฐานมาให้ตรวจสอบเพิ่มเติม โดยจะให้เวลาส่งข้อมูลมาให้ชี้แจงภายใน 15 วัน ถ้าพบว่าเข้าข่ายนอมินี กรมฯ จะส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ตรวจสอบเชิงลึกต่อไป" รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าว
พร้อมระบุว่า ปัญหานอมินีมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาฟื้นตัว ภายหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ประกอบกับการเปิดประเทศของจีน ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยจำนวนมากขึ้น กรมฯ จึงจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าตรวจสอบนอมินีอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยเน้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ และเน้นในจังหวัดท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา หัวหิน เป็นต้น ซึ่งจากการตรวจสอบที่ผ่านมา พบเข้าข่ายเป็นนอมินีหลายราย และได้ส่งดำเนินคดีแล้ว