นายจิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนไทย หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและยั่งยืน จะสร้างปัญหาที่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อประเทศโดยรวม ทั้งฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะรายได้ส่วนใหญ่ ลูกหนี้ต้องนำไปจ่ายคืนหนี้แทนการใช้จ่ายทั่วไปในชีวิตประจำวัน, เสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งหากลูกหนี้จำนวนมาก ไม่สามารถชำระหนี้ได้ก็จะกระทบต่อฐานะเจ้าหนี้ ปัญหาหนี้เสียจะลุกลามจนกลายเป็นวิกฤต และเกิดปัญหาด้านอื่นๆ ตามมา เช่น ชีวิตและทรัพย์สินของคนในสังคมไม่ปลอดภัย เกิดปัญหาอาชญากรรมตามมา รวมทั้งปัญหาด้านสุขภาพจิต เป็นต้น
"หากไม่ทำอะไรเพิ่มเติม คาดว่าหนี้ครัวเรือนจะสูงกว่า 80% ของ GDP ที่เป็นระดับควรเฝ้าระวัง และอาจฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน และอาจลุกลามไปเป็นปัญหาสังคม ซึ่งจะยิ่งแก้ไขได้ยากขึ้น ดังนั้นการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ต้องทำอย่างครบวงจรให้เหมาะกับลักษณะและสาเหตุของปัญหาในแต่ละช่วงของการเป็นหนี้ และต้องทำอย่างถูกหลักการ คือ แก้ให้ตรงจุด ไม่สร้างภาระเพิ่มให้ลูกหนี้ ไม่ลดโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ และตั้งใจจริง ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และภาครัฐ" นายจิตเกษม ระบุ
ทั้งนี้ ธปท. จึงได้จัดทำ "แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน" โดยมีแนวทางการดำเนินการสำหรับลูกหนี้กลุ่มที่ต้องเร่งแก้ไข ดังนี้
1. หนี้เสียที่มีอยู่ในปัจจุบัน : เร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ตามมาตรการแก้หนี้ระยะยาว การกำหนดให้เจ้าหนี้ต้องมีบริการให้คำปรึกษาแก้หนี้ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้ การสร้างตัวช่วยลูกหนี้ โดยให้มีคนกลางทำหน้าที่ให้คำแนะนำด้านการแก้หนี้และไกล่เกลี่ยหนี้ และการผลักดันให้มีกฎหมายที่ช่วยให้ลูกหนี้รายย่อยทั่วไปที่ไปต่อไม่ไหวได้เข้ากระบวนการฟื้นฟูหรือขอล้มละลาย ได้ด้วยตนเอง
2. หนี้ที่เป็นปัญหาเรื้อรัง : ให้ลูกหนี้เห็นทางปิดจบหนี้ได้ โดยจะผลักดันให้มีแนวทางแก้ไขปัญหา เริ่มจากหนี้บัตรกดเงินสดที่เป็นหนี้เรื้อรังของลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง มีอายุมากและมีปัญหาทางการเงินรุนแรงก่อน
3. หนี้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นเร็วและอาจเป็นหนี้เสียหรือเรื้อรังในอนาคต : ธปท. จะออกเกณฑ์เพื่อให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ (responsible lending) และกำหนดให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อ โดยคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายหนี้คืน และลูกหนี้ยังมีเงินเหลือพอดำรงชีพ (macroprudential policy) รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหนี้สินเชื่อรายย่อยคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละราย (risk-based pricing) พร้อมผลักดันให้เจ้าหนี้อื่นเห็นพฤติกรรมดีของลูกหนี้ เพื่อกระตุ้นการรีไฟแนนซ์หนี้ไปยังดอกเบี้ยที่ถูกลง
ทั้งนี้ ประมาณไตรมาส 2 ปีนี้ ธปท.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักเกณฑ์ที่ให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ และคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายคืนของลูกหนี้ โดยคาดว่าจะประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าวในไตรมาส 3 เพื่อที่จะมีผลบังคับใช้ได้ราวปลายปีนี้
4. หนี้ที่ยังไม่อยู่ในตัวเลขหนี้ครัวเรือน อาทิ หนี้ กยศ. สินเชื่อสหกรณ์อื่น และหนี้นอกระบบ : จะมีการติดตามข้อมูลให้ครอบคลุมลูกหนี้ต่าง ๆ มากขึ้น และผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลต่าง ๆ ในการประเมินและติดตามสินเชื่อ อาทิ ข้อมูลพฤติกรรมการจ่ายเงิน เพื่อให้ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อในระบบมากขึ้นและด้วยต้นทุนการกู้ยืมที่ตรงตามความเสี่ยงของตน
ทั้งนี้ ธปท. จะเร่งผลักดันการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนตามแนวทางที่วางไว้ ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บังคับใช้ได้จริงเหมาะสมกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจการเงิน และสามารถดูแลหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้ภาคครัวเรือนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงินในระยะยาว และภาคการเงินมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง พร้อมรองรับการพัฒนาด้านดิจิทัลและการปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้
ด้าน น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธปท. เปิดเผยถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย และแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนว่า ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงสถานการณ์โควิด-19 เริ่มระบาด และส่งผลกระทบทางการเงินต่อทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจนั้น ธปท.ได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านมาตรการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการทางการเงินแบบปูพรม และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้แบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งครอบคลุมการแก้หนี้เดิม การเติมเงินใหม่ และการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านช่องทางอื่นๆ เพิ่มเติม
โดยข้อมูลการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ครัวเรือน และลูกหนี้ธุรกิจในการแก้หนี้เดิม มีทั้งสิ้นรวม 3.95 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ 2.98 ล้านล้านบาท โดยในจำนวนนี้ แยกเป็น ลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ และ non-bank 1.58 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ 1.89 ล้านล้านบาท และลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 2.37 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ 1.09 ล้านล้านบาท
ส่วนการให้สินเชื่อใหม่ (ข้อมูลถึงวันที่ 6 ก.พ. 66) มีทั้งสิ้น 137,462 ราย คิดเป็นยอด 348,897 ล้านบาท แบ่งเป็น สินเชื่อฟื้นฟู 59,675 ราย ยอดรวม 210,679 ล้านบาท ส่วน Soft Loan 77,787 ราย ยอดรวม 138,220 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี จากมาตรการความช่วยเหลือดังกล่าว อาจยังไม่เพียงพอที่จะทำให้หนี้ครัวเรือนลดลงต่ำกว่าระดับที่ต้องเฝ้าระวัง (ระดับ 80% ขึ้นไป) โดยล่าสุด ณ ไตรมาส 3/2565 หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ระดับ 86.8% ของ GDP ลดลงจากที่เคยขึ้นไปสูงสุดที่ระดับประมาณ 90% ในช่วงสถานการณ์โควิดระบาดหนักในปี 63-64 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว เศรษฐกิจไทยหดตัว ทำให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้ส่วนบุคคล และหนี้เกษตรที่ขยายตัวรวดเร็ว
เมื่อมองไปข้างหน้า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ระดับหนี้ครัวเรือน กลับไปสู่จุดที่มีเสถียรภาพได้ โดยธปท.คาดการณ์ว่าหากไม่มีการดำเนินการใดๆ ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน จะทำให้ในปี 2570 หนี้ครัวเรือนไทยจะอยู่ที่ระดับ 84% ของ GDP