น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบและอนุมัติร่างพิธีสารแก้ไขบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กับรัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง โดยจะขยายระยะเวลา MOU ดังกล่าว จากเดิมที่มีระยะเวลาบังคับใช้ 3 ปี คือระหว่างวันที่ 22 ต.ค. 62-21 ต.ค. 65 จะขยายออกไปจนกว่าจะมีการประชุมระดับสูงไทย-มณฑลกวางตุ้งครั้งที่ 2 ในปี 66 ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นในช่วงเดือน ส.ค. นี้
ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างสองฝ่ายได้อย่างต่อเนื่อง โดยจะจัดพิธีลงนามผ่านระบบออนไลน์ ภายหลังจากที่ ครม. ให้ความเห็นชอบแล้ว นอกจากนี้ ในการประชุมระดับสูงไทย-มณฑลกวางตุ้ง ครั้งที่ 2 ทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาร่วมกันจัดทำและรับรองบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจฯ ฉบับใหม่ ในช่วงการประชุมดังกล่าวด้วย
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ที่ผ่านมา สกพอ. และรัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง ได้ดำเนินการตามกรอบบันทึกความเข้าใจดังกล่าวอันเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เช่น
1. อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โดยร่วมผลักดันให้บริษัท BYD Auto นำเข้ายานยนต์ไฟฟ้ามายังไทย และลงทุนโครงการจัดตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบยานยนต์แบตเตอรี่ (Electronic Vehicles: EV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-In Hybrid Electric Vehicle: PHEV) ในพื้นที่ EEC ซึ่งคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 67 ด้วยกำลังการผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้า 150,000 คัน/ปี เพื่อส่งออกไปยังอาเซียนและยุโรป
2. อุตสาหกรรมการแพทย์ มีบริษัทชั้นนำด้านจีโนมิกส์ของมณฑลกวางตุ้ง และเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area: GBA) ได้แก่ บริษัท BGI Genomics เข้าร่วมลงทุนและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการแพทย์จีโนมิกส์ กับหน่วยงานของรัฐและสถาบันการศึกษา ภายใต้โครงการจีโนมิกส์ประเทศไทย (Genomics Thailand) เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องในการรองรับบริการการแพทย์จีโนมิกส์ของไทย
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ระหว่าง สกพอ. กับมณฑลกวางตุ้ง เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งและความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน ได้แก่ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกกับมณฑลกวางตุ้งและเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ความร่วมมือในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้านการวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรม รวมทั้งด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ส่วนในอนาคต จะเพิ่มเติมการให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Transportation) อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งส่งเสริมผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในไทยให้มีความเข้มแข็ง พึ่งพาสัดส่วนวัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตได้ภายในประเทศ (Local Content) ให้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนร่วมวิจัยพัฒนาถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกัน