นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ภาพรวมของตลาดเงินยังคงมีความผันผวนค่อนข้างมาก หลังจากเมื่อคืนนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนม.ค. ออกมาที่ 6.4% ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 6.2% ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น จากการที่เงินไหลกลับเข้าไปในดอลลาร์สหรัฐฯ และตราสารหนี้สหรัฐฯ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ 10 ปี (Bond Yield) ปรับตัวขึ้น 0.60% จึงทำให้ค่าเงินสกุลอื่นๆ ในช่วงเช้านี้อ่อนค่าลง สะท้อนภาพของตลาดที่มองว่าสหรัฐฯ ยังคงดำเนินนโยบายการเงินอย่างเข้มงวด และยังเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเช่นกัน
ขณะที่ค่าเงินบาทในช่วงนี้ได้ที่อ่อนค่าลงมา หลังแข็งค่าขึ้นไปมากที่ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ตอบรับปัจจัยบวกต่อการท่องเที่ยว และดุลบัญชีเดินสะพัดที่เป็นบวกไปก่อนหน้านี้ ทำให้มีเงินไหลเข้ามาในตลาดตราสารหนี้และหุ้น แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นการขายทำกำไรออกมาจากต่างชาติบ้างแล้ว ทั้งตราสารหนี้และหุ้น และได้ผ่านช่วงของเทศกาลตรุษจีน และหน้าท่องเที่ยวไปแล้ว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากยุโรปที่เริ่มมีแนวโน้มเดินทางมาท่องเที่ยวไนไทยลดลง หลังอุณหภูมิในยุโรปไม่ได้หนาวกว่าที่คิดและเริ่มอุ่นขึ้น ส่งผลให้เม็ดเงินที่ได้จากการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 2/66 และไตรมาส 3/66 อาจจะลดลงไปบ้าง
นอกจากนี้ ในช่วงสิ้นเดือนมี.ค.ของทุกปี บริษัทญี่ปุ่นจะปิดงบฯ ประจำปี ทำให้มีการส่งเงินกลับประเทศ ซึ่งต้องมีการแปลงเงินจากบาทเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ และแปลงจากดออลาร์สหรัฐฯเป็นเยน ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และค่าเงินเยนจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท
ประกอบกับในช่วงเดือนพ.ค.ของทุกปี จะเป็นช่วงการจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะมีการที่บางบริษัทมีนักลงทุนต่างชาติถือหุ้นจำนวนมาก จะต้องแปลงเงินจากบาทเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้จะเป็นแรงกดดันค่าเงินบาทได้เพิ่มเติมในช่วงดังกล่าว ซึ่งมองว่าการอ่อนค่าของค่าเงินบาท มีโอกาสปรับขึ้นไปที่ระดับแนวต้าน 34.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ได้เช่นกัน แต่ยังมองค่าเงินบาทสิ้นปี 66 ไว้ที่ 33.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ
นายกอบสิทธิ์ กล่าวถึงภาพรวมของเศรษฐกิจในปี 66 ว่า ยังคงเป็นปีที่ท้าทายและยากลำบาก จากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ ประกอบมาตรการกีดกันทางการค้าที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง และกระทบต่อการส่งออกของไทยด้วยเช่นกัน
แต่ในปี 66 เศรษฐกิจไทยได้รับแรงขับเคลื่อนหลักมาจากภาคบริการที่กลับมาฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจไทยยังโตต่อไปได้ที่ 3.2% แต่ในส่วนของความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยของไทยยังมีไม่มาก เหมือนกับในกลุ่มประเทศยุโรปที่มีความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยมากกว่า เพราะเงินเฟ้อยังอยู่สูง และยังเห็นการขึ้นดอกเบี้ยที่สูงต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยจะเป็นภาพที่แตกต่าง แต่ก็มีความเสี่ยงในที่เกิดเศรษฐกิจถดถอยได้ราว 15%
ด้านนโยบายการเงินของไทย คาดว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในรอบหน้าในเดือนมี.ค. 66 จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มาอยู่ที่ 1.75% และอาจจะมีโอกาสปรับขึ้นไปที่ระดับ 2% ในปีนี้ได้ หากยังคงเห็นทิศทางของเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงอยู่ และยังเร่งตัวขึ้น ซึ่งจะมีส่วนหนึ่งที่มาจากปัจจัยการเลือกตั้ง ที่จะส่งผลให้เงินเฟ้อในระยะข้างหน้าอาจจะเร่งตัวขึ้น เพราะคนมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และมีการอัดฉีดเงินหมุนเวียนเข้าระบบ ซึ่งยังต้องติดตามในเรื่องเงินเฟ้อของไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป