ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดเงินบาทแข็งค่ารับมือภาวะเงินเฟ้อตามค่าเงินในภูมิภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 16, 2008 12:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าเพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อเช่นเดียวกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคเอเชีย ตามที่ตลาดมองว่าธนาคารกลางของประเทศในแถบเอเชียอาจกำลังปล่อยให้สกุลเงินในประเทศแข็งค่าขึ้นเพื่อช่วยหักล้างกับการพุ่งขึ้นของราคาสินค้านำเข้า เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมัน ตลอดจนสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"แม้ว่ายังไม่มีหลักฐานที่บ่งชัดอย่างชัดเจนว่าการแข็งค่าของค่าเงินจะสามารถบรรเทาแรงกดดันเงินเฟ้อได้อย่างมีประสิทธิผล แต่ก็อาจส่งผลกระทบทางอ้อมไปช่วยชะลอการคาดการณ์เงินเฟ้อได้บ้างบางส่วน"ศูนย์วิจัยกสิกรไทยฯ ระบุ
ปัจจุบัน ปัญหาเงินเฟ้อกลายเป็นภัยคุกคามสำคัญของเศรษฐกิจโลก ดังนั้นประเทศในเอเชียต่างกำลังเผชิญกับปัญหาแรงกดดันเงินเฟ้อจากการนำเข้าเนื่องจากการทะยานขึ้นทำสถิติสูงสุดในประวัติการณ์ของราคาน้ำมัน ตลอดจนสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ โดยเฉพาะอาหาร ท่ามกลางกระแสคาดการณ์การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 51 อาจปรับตัวอยู่ในกรอบ 4.0-5.5% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ระดับ 4.8% เทียบกับระดับ 2.3% ในปี 50
ขณะที่ค่าเงินในภูมิภาคมีทิศทางแข็งค่าขึ้น โดยมีการทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของเงินดอลลาร์สิงคโปร์ ตลอดจนการปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 14 ปี ของเงินหยวนในวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สำหรับประเทศไทยได้ทยอยรับแรงกดดันจากเงินเฟ้อโดยเห็นได้ชัดเจนในช่วงไตรมาส 1/51 และอาจยังมีแรงกดดันในช่วงขาขึ้นต่อไปในระยะข้างหน้าเมื่อพิจารณาถึงราคาข้าวที่สูงขึ้นน่าจะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อราคาสินค้าอื่นๆ
นอกจากนี้การปรับตัวขึ้นของดัชนีราคาผู้ผลิตในอัตราที่เร่งกว่าดัชนีราคาผู้บริโภคอาจทำให้กระบวนการส่งผ่านเงินเฟ้อจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในระยะถัดไป และหากราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมันและอาหารในตลาดโลกยังคงทรงตัวในระดับสูงก็อาจทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อกลายเป็นประเด็นที่น่ากังวลมากขึ้นสำหรับทางการไทย
"แรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังคงมีอยู่ในระยะถัดไปอาจส่งผลต่อเนื่องไปยังการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และค่าเงินบาท แม้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะไม่ใช่เครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพของระดับราคาโดยตรงก็ตาม" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
อีกทั้งระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบ Managed Float ของไทยมีความแตกต่างจากระบบ ของจีน โดยธนาคารกลางจีนสามารถชี้นำการเคลื่อนไหวของเงินหยวนได้ผ่านการกำหนดอัตราอ้างอิงเงินหยวนในแต่ละวัน ส่วนระบบอัตราแลกเปลี่ยนของสิงคโปร์นั้นอนุญาตให้ค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์ปรับตัวในกรอบการเคลื่อนไหวอย่างไม่เป็นทางการ ขณะที่ระบบของไทยจะปล่อยให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาดมากกว่า แม้ว่า ธปท.จะเข้าแทรกแซงตลาดในบางช่วงเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทก็ตาม
"แม้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะไม่ใช่เครื่องมือหลักในการจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อ แต่ในท้ายที่สุดเงินบาทอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมให้ต้องปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค เนื่องจากแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ที่ยังคงย้ำถึงการดูแลเสถียรภาพราคาและเศรษฐกิจโดยรวมด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่อเนื่องในการประชุมช่วงปลายเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งอาจทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ กว้างขึ้น ซึ่งโดยทฤษฎีความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยถือเป็นปัจจัยที่อาจทำให้ค่าเงินปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ทิศทางการแข็งค่าขึ้นอย่างชัดเจนของค่าเงินหยวนและเงินดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อจัดการกับภาวะเงินเฟ้ออาจส่งผลทางอ้อมทำให้ค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค รวมถึงเงินบาทต้องปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ