มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส กล่าวในรายงานว่า ธนาคารอิสลามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกกำลังพัฒนาขึ้นอย่างช้าๆ แต่หน่วยงานกำกับดูแลจำเป็นต้องดำเนินการมากกว่านี้เพื่อออกกฎหมายและวางกรอบการทำงานด้านกฎข้อบังคับเพื่อให้อุตสาหกรรมนี้ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญทั่วภูมิภาค
รายงานระบุว่า นอกเหนือจากมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันมีสินทรัพย์ในอุตสาหกรรมธนาคารอิสลามคิดเป็น 15.4% (ประมาณ 6.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ของสินทรัพย์ทั้งหมดของระบบธนาคารของประเทศ ถือว่าธุรกิจธนาคารอิสลามในภูมิภาคนี้ยังไม่ราบรื่นนัก
มูดี้ส์ได้ยกตัวอย่างว่า ในขณะที่ธนาคารอิสลามมีการขยายตัวสูงมากในบรูไน และมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอินโดนีเซีย แต่มูลค่าสินทรัพย์ของบริการธนาคารอิสลามในฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ยังนับว่าน้อยมาก
คริสทีน กั๊วะ นักวิเคราะห์ของมูดี้ส์และผู้เขียนรายงานฉบับนี้ กล่าวว่า จริงอยู่ที่ธุรกิจธนาคารอิสลามสามารถขยายตัวได้ในมาเลเซียเนื่องจากประชากรราว 60% ของประเทศเป็นชาวมุสลิม แต่การปฏิรูปของรัฐบาลในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมาในการพัฒนากฎหมายและกรอบการทำงานด้านกฎระเบียบ ถือเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ช่วยให้อุตสาหกรรมนี้เฟื่องฟูอย่างมากในมาเลเซีย
ทั้งนี้ กั๊วะได้เปรียบเทียบกับกรณีของอินโดนีเซีย ซึ่งส่วนแบ่งตลาดของอุตสาหกรรมนี้ยังมีไม่ถึง 2% (ประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) แม้ว่าการขยายตัวจะเป็นไปอย่างรวดเร็วในช่วงหลังมานี้ โดยมูดี้ส์เชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้ส่วนแบ่งตลาดของธนาคารอิสลามในอินโดนีเซียยังมีสัดส่วนที่ต่ำอยู่นั้น เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบและหน่วยงานกำกับดูแลยังคงเป็นไปอย่างเชื่องช้า
อย่างไรก็ดี ธนาคารอิสลามมีศักยภาพที่จะเติบโตในระยะยาวในอินโดนีเซีย เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดในโลกกว่า 200 ล้านคน นอกจากนี้ธนาคารอิสลามก็เริ่มที่จะได้รับการต้อนรับจากประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมมากขึ้น เห็นได้จากการที่สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และฮ่องกง ต่างก็แสดงความจำนงที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจนี้
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย ปนัยดา ปัทมโกวิท/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--