นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวภายหลังร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (ชริมพ์บอร์ด) ซึ่งเป็นการประชุมสัญจรครั้งแรกในปี 2566 ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่า คณะกรรมการฯ ได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานในประเด็นต่างๆ ตามแผนปฏิบัติการด้านกุ้งทะเล พ.ศ. 2566 อาทิ การดำเนินงานของคณะทำงานถอดบทเรียนการเลี้ยงกุ้งทะเล คณะทำงานคัดเลือกสายพันธุ์กุ้งทะเลให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาด้านโรคผ่านการดำเนินงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกุ้งทะเลด้วยระบบป้องกันโรคตลอดห่วงโซ่การผลิต (Shrimp Sandbox) โครงการอาหารกุ้งทะเลธงเขียวเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลสำหรับบริโภคภายในประเทศ ปี 2566 และโครงการเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ปี 2565 ระยะที่ 1
พร้อมทั้งร่วมหารือแนวทางการบังคับใช้ระบบการซื้อขายสัตว์น้ำควบคุม (กุ้งทะเล) หรือ APD และมาตรการรองรับ รวมถึงการแก้ปัญหาต้นทุนพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นในการเลี้ยงกุ้งทะเล ซึ่งมีการนำเสนอรูปแบบนวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรเกษตรกรเลือกใช้หลายโมเดล
โดยคณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำต้นทุนการผลิตกุ้งทะเล และคณะทำงานด้านการตลาด เพื่อร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานแผนปฏิบัติการด้านกุ้งทะเล พ.ศ. 2566 ภายใต้กลยุทธ์การส่งเสริมด้านการตลาด ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการผลิตไปแล้ว 3 คณะ ทั้งการการถอดบทเรียนเกษตรกร การคัดเลือกสายพันธุ์ และแก้ไขปัญหาด้านโรค โดยหวังว่าทุกคณะทำงานที่ได้แต่งตั้งขึ้น จะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ให้บรรลุเป้าหมาย 4 แสนตันที่ตั้งไว้
สำหรับกรณีที่เกษตรกรมีความกังวลเรื่องการซื้อขายกุ้งผ่านระบบ APD ของกรมประมงนั้น เพื่อมิให้กระทบต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีความพร้อม จึงเลื่อนการบังคับใช้ออกไปอีก 1 ปี เป็นวันที่ 1 มี.ค.67 นอกจากนี้ จะเปิดรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเสริมสภาพคล่อง ในวันที่ 15 มี.ค.นี้