นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างพิจารณากลั่นกรองรายละเอียดหลายโครงการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมีเวลาที่จะนำเสนอครม.ภายใต้วาระของรัฐบาลปกติถึงวันที่ 23 มี.ค. 2566 ส่วนกรณีมีการยุบสภาก่อน จะเป็นรัฐบาลรักษาการ ซึ่งการนำเสนอโครงการต่อครม.เพื่อขออนุมัติยังทำได้ แต่จะต้องมีขั้นตอนผ่าน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อน ซึ่งไม่ได้เป็นข้อจำกัดแต่อย่างใดในการดำเนินงาน
*โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง
- สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,448.69 ล้านบาท
- สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท
- สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4,616 ล้านบาท
ซึ่งปลัดกระทรวงคมนาคมตั้งคณะทำงานตรวจสอบรายละเอียดการลงทุน ตัวเลขโครงการ เพื่อให้ชัดเจนและสามารถตอบคำถามได้อย่างครบถ้วน ซึ่งต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ปัจจุบัน ต้นทุนค่าวัสดุก่อสร้างมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมตอนที่มีการศึกษาโครงการ นอกจากนี้ ยังมีสภาพกายภาพ ชุมชนในเขตพื้นที่โครงการที่มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย ดังนั้น กระทรวงฯ จะต้องพิจารณาตรวจสอบให้เกิดความสมบูรณ์
กรมทางหลวง(ทล.) กำลังสรุปโครงการส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) (M5) ช่วงรังสิต - บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. มูลค่าโครงการประมาณ 28,360 ล้านบาท
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR10) ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร วงเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท
"การเป็นรัฐบาลรักษาการไม่ใช่จะทำอะไรไม่ได้เลย ขั้นตอนที่ต้องผ่านกกต. ก็ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะก็เป็นการตรวจสอบ ว่าได้ดำเนินการตามระเบียบ ข้อกฎหมาย ถูกต้องหรือไม่ และไม่ได้เป็นการดำเนินงานที่เป็นภาระของประเทศ และไม่ได้ทำอะไรที่จะเกิดความได้เปรียบ เสียเปรียบ ในการเป็นรัฐบาลรักษาการ"
รมว.คมนาคม เปิดเผยถึง โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า ตนได้ชี้แจง ในการอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ไปแล้ว ว่า โครงการนี้ ดำเนินการคัดเลือกเอกชน ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่ง มี 5 ขั้นตอน โดยขั้นตอนที่1-4 นั้นเป็นเรื่องของหน่วยงานเจ้าของโครงการ ส่วนรัฐมนตรีนั้น จะมีหน่าที่เกี่ยวข้อง ในขั้นตอนที่ 5 ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รายงานอย่างไม่เป็นทางการว่า เรื่องยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ศาลปกครอง
ดังนั้น จะต้องรอให้กระบวนการยุติธรรม มีคำวินิจฉัยถึงที่สุดก่อน ตอนนี้ยังไม่มีกระบวนการที่จะนำเสนอเข้าครม.แต่อย่างใด ไม่อยากให้มโน เพราะแต่ละฝ่ายมีหน้าที่ ความรับผิดชอบตามอำนาจ และกฎหมายที่มี หลักการทำงานของผม ยึดระเบียบกฎหมายหลักธรรมภิบาล
ส่วนข้อกังวล เรื่องการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มด้านตะวันออก(ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) ใกล้จะเสร็จแต่ยังไม่สรุปการคัดเลือกผู้เดินรถได้ จะทำให้เสียโอกาสนั้น นายศักดิ์สยามกล่าวว่า กระทรวงฯกังวลมากเช่นกันแต่ เมื่อมีข้อพิพาท จะต้องรอกระบวนการทางศาลจบก่อน หากได้ข้อยุติอย่างไรก็ไปตามนั้น
"ประเด็นที่มีข้อพิพาทเรื่องทีโออาร์ ที่ศาลปกครองกลางมีคำวินิจฉัย ขณะนี้เมื่อยังไม่ถึงที่สุดก็รอว่าศาลให้ดำเนินการอย่างไร ที่ดำเนินการมานั้นถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกก็ต้องกลับไปดำเนินการใหม่ ถึงจะนำเสนอครม. ตอนนี้ต้องรอรฟม.ประมวลเรื่องเสนอมาตามขั้นตอนก่อน และไม่อยากให้ไปคาดเดาว่าศาลจะมีการพิจารณาออกมาอย่างไร " นายศักดิ์สยาม กล่าว