"หมอเลี้ยบ"เผยคกก.เวิลด์แบงก์ร้องเร่งช่วยปชช.ยากจนกระทบหนักอาหาร-น้ำมันแพง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 17, 2008 10:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เผยที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลกครั้งที่ 77(77th Development Committee Meeting) เห็นว่าปัจจัยเสี่ยงที่สูงขึ้น เช่น ราคาน้ำมันและอาหาร ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาตลาดการเงินในประเทศกำลังพัฒนาน้อยมาก แต่กลับเป็นปัญหาต่อประชาชนที่ยากจนซึ่งต้องเร่งให้ความช่วยเหลือ
"แม้ประเทศเหล่านี้ได้รับประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น แต่ยังประสบปัญหาจากราคาน้ำมันและอาหารที่พุ่งตัวสูงขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากจนกลุ่มใหญ่...จึงควรเร่งให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเหล่านั้น" นพ.สุรพงษ์ ระบุในเอกสารเผยแพร่
นอกจากนี้ ควรเร่งปรับปรุงในเรื่องคุณภาพและประสิทธิภาพของบริการด้านสาธารณสุขและการศึกษา รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหามลภาวะต่างๆ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปราะบางและสถานการณ์ภายหลังความขัดแย้ง
คณะกรรมการพัฒนาการฯ เรียกร้องให้ธนาคารโลกให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในระดับนานาชาติและระดับประเทศเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่สันติภาพอย่างราบรื่น โดยมีการปฏิรูประบบธรรมาภิบาลและการพัฒนาไปสู่เป้าหมายแห่งสหัสวรรษ ซึ่งบทบาทของธนาคารโลกที่ชัดเจนประกอบกับความสนับสนุนทางวิชาการและการเงินจะเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ
"เรื่องปัญหาราคาน้ำมันและราคาอาหารที่พุ่งตัวสูงขึ้นในระยะที่ผ่านมา ธนาคารโลกจำเป็นต้องสนับสนุนให้ประชาคมโลกเปลี่ยนมาลงทุนในภาคการเกษตรและสวัสดิการสังคมให้มากขึ้น โดยร่วมมือกับประเทศผู้บริจาคและประเทศผู้รับความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดเพื่อลดผลกระทบทางลบและสร้างความสมดุลในการดำเนินมาตรการต่างๆ" นพ.สุรพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ นพ.สุรพงษ์ ได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการฯ ระหว่างวันที่ 11-13 เม.ย.ที่ผานมา ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา
สำหรับความคืบหน้าในการพัฒนายุทธศาตร์การมีส่วนร่วมระหว่างธนาคารโลกและประเทศกำลังพัฒนา คณะกรรมการพัฒนาการฯ เห็นว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยที่ผ่านมามีการสร้างนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ขึ้น ทั้งในด้านเงินกู้และการพัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลท้องถิ่น รวมทั้งเรื่องการลดขั้นตอนและต้นทุนในการดำเนินธุรกิจในประเทศต่างๆ จึงขอสนับสนุนให้มีการดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ต่อไป
ส่วนกรอบยุทธ์ศาสตร์(Strategic Framework) เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาของธนาคารโลก ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและการลดความยากจนนั้น คณะกรรมการพัฒนาการฯ ได้ขอให้ธนาคารโลกประเมินความต้องการด้านการเงินและกลไกทางการเงินที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการเร่งให้มีข้อสรุปในการจัดตั้งกองทุน Climate Investment Fund เพื่อนำมาหารือในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการฯ ครั้งต่อไปในวันที่ 12 ต.ค.51 ร กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ