(เพิ่มเติม1) ม.หอการค้าฯ ปรับคาดการณ์ GDP ปี 51 เพิ่มเป็น 5.0-5.5% จากเดิม 4.5-5.0%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 17, 2008 13:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 51 มาที่ 5.0-5.5% จากเดิม 4.5-5.0% โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นหลังจากการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการปรับตัวดีขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้การบริโภคและการลงทุนขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย
"มีความเป็นไปได้สูงที่จีดีพีปีนี้จะอยู่ที่ 5.1% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.5-5 %" นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ กล่าว พร้อมมองว่าการบริโภคและการลงทุนจะเป็นตัวหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง แทนที่การส่งออกที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรก
ขณะเดียวกัน ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 4.5-5.0% หรือเฉลี่ยประมาณ 4.8%, การส่งออกขยายตัว 12.3% มาที่มูลค่า 169,750 ล้านดอลลาร์, การนำเข้าขยายตัว 18.2% มาที่มูลค่า 164,480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, เกินดุลการค้า 5.27 พันล้านดอลลาร์, เกินดุลบัญชีเดินสะพัด 8.77 ล้านดอลลาร์ และมีอัตราการว่างงาน 1.3%
นายธรวรรธน์ กล่าวว่า สาเหตุที่ปรับคาดการณ์จีดีพีปีนี้เพิ่มขึ้นเป็นผลจากเสถียรภาพทางการเมืองที่ทำให้ผู้บริโภคและนักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐที่อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบราว 80,000-100,000 ล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างโดดเด่นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็คต์, อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และราคาสินค้าทางการเกษตรมีราคาดี
แต่ยังมีปัจจัยลบจากปัญหาราคาน้ำมันแพง โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่ 88.5 ดอลลาร์/บาร์เรล, ผลกระทบจากปัญหาซับไพร์ม, การแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ซึ่งคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 31 บาท/ดอลลาร์ และความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศที่ยังมีอยู่สืบเนื่องมาจากปัญหาการยุบพรรคและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ก่อนหน้านี้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ เคยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปี 51 จะมีกรอบการขยายตัวอยู่ในช่วง 4.5-5.0% หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4.6%
นายธนวรรธน์ ยังคาดว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2/51 จะอยู่ที่ 4.9% เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้นในการจับจ่ายใช้สอย การบริโภค และการลงทุน
ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทในระยะสั้น(3 เดือน)คาดว่ายังคงแข็งค่าอยู่ในระดับ 31.20-31.70 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และการขายเงินดอลลาร์ของผู้ส่งออกเพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน
ขณะที่ครึ่งหลังของปีนี้คาดว่าเงินบาทน่าจะอยู่ที่ระดับ 30-31 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะชะลอตัวลง และมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด รวมทั้งปัญหาซับไพร์ม ซึ่งจะทำให้เงินลงทุนทั้งทางตรงและการลงทุนในตราสารต่างๆ ไหลเข้ามาในเอเชียและไทยมากขึ้น
นายธนวรรธน์ ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มขับเคลื่อนได้ดีในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมีผลสำคัญมาจากเม็ดเงินในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ 3 แหล่งที่เริ่มเข้าสู่ระดับฐานราก คือ เม็ดเงินจากโครงการพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านและชุมชน(SML), เม็ดเงินจากโครงการต่างๆ ของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และโครงการเมกะโปรเจ็คต์ของรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะทำให้จีดีพีไตรมาส 3/51 อยู่ที่ 4.9% และจีดีพีไตรมาส 4/51 อยู่ที่ 5.5%
พร้อมกันนี้ ยังให้ความเห็นถึงการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำว่าจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับ 5% ถือว่ามีความเหมาะสมหากจะมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นอีก 5% ให้สอดคล้องกับภาวะเงินเฟ้อ หรือปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 8-9 บาท/วัน แต่อย่างไรก็ดี การพิจารณาดังกล่าวย่อมต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการไตรภาคีในท้ายสุดด้วย เพราะแม้ต้นทุนการผลิตสินค้าในปัจจุบันจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ผู้ประกอบการยังไม่สามารถผลักภาระให้กับผู้บริโภคด้วยการปรับขึ้นราคาสินค้าได้มากนัก
"การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 5% หรือเพิ่มอีกวันละ 8-9 บาท ก็ชอบด้วยเหตุผล เพราะอยู่ในกรอบของเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น 5% เพราะจะได้ดูแลคนที่มีรายได้น้อย...อาจแบ่งปรับขึ้นเป็น 2 รอบ คือ เดือนส.ค. และเดือน ม.ค." นายธนวรรธน์ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ