น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนม.ค.66 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการของภาครัฐ ขณะที่มูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม และเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน สำหรับกิจกรรมในภาคบริการปรับเพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทย ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอลงบ้าง ด้านการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ลดลงทั้งในหมวดพลังงานและหมวดอาหารสด ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานสูงในปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงแต่ยังอยู่ในระดับสูง ด้านตลาดแรงงานโดยรวมทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ
น.ส.ชญาวดี กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยเดือนก.พ.66 ว่า มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยระยะต่อไปยังต้องติดตามปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ 1. แนวโน้มเศรษฐกิจโลก 2.ผลของการเปิดประเทศและมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของจีน และ 3.การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจเพิ่มขึ้น
ส่วนกรณีที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/65 ขยายตัวได้เพียง 1.4% ซึ่งออกมาต่ำกว่าที่คาดนั้น ธปท.จะนำมาใช้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะพิจารณาปรับประมาณการ GDP ของปี 2566 ใหม่อีกครั้งในเดือนมี.ค.
"แบงก์ชาติ จะมีการปรับประมาณการในเดือนมี.ค.นี้ โดย GDP ไตรมาส 4/65 ที่สภาพัฒน์รายงาน ซึ่งออกมาต่ำกว่าคาด ก็จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะนำมาดูด้วย แต่ในเดือนม.ค.66 ก็เริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้น เพราะฉะนั้น จะต้องนำข้อมูลเศรษฐกิจต่างๆ มาประมวลผลใหม่ในรอบเดือนมี.ค.นี้" น.ส.ชญาวดี ระบุ
น.ส.ชญาวดี ระบุว่า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวดจาก 1) หมวดบริการ ตามการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทย 2) หมวดสินค้าคงทน จากการทยอยส่งมอบรถยนต์ตามคำสั่งซื้อในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และ 3) หมวดสินค้าไม่คงทน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ ส่วนการใช้จ่ายหมวดสินค้ากึ่งคงทนปรับลดลงบ้าง โดยปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อยังคงปรับดีขึ้นจากทั้งการจ้างงาน และความเชื่อมั่นผู้บริโภค
ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว ปรับดีขึ้นตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ จากการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนหมวดก่อสร้างลดลงจากทั้งพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง และยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง
ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นในหลายหมวด โดยเฉพาะหมวดปิโตรเลียม ตามการกลับมาดำเนินการผลิตหลังจากปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในช่วงก่อนหน้า และหมวดอาหารที่ปรับดีขึ้นตามการผลิตน้ำมันปาล์ม เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย อย่างไรก็ตาม การผลิตหมวดวัสดุก่อสร้างปรับลดลงตามการผลิตคอนกรีต และปูนซีเมนต์
"การส่งออกเติบโตขึ้นถ้าเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ถ้าเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนยังลบต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 เศรษฐกิจโลกจะกลับมาดีกว่านี้ การส่งออกจะต้องเทียบดูเป็นรายเดือน เพื่อจะดูว่าเป็นแรงส่งว่าจะฟื้นตัวได้มากน้อยแค่ไหน" น.ส.ชญาวดี ระบุ
โดยมูลค่าการส่งออกในเดือนม.ค. (ข้อมูลเบื้องต้น) ลดลง 3.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มูลค่า 20.4 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่มูลค่าการนำเข้า (ข้อมูลเบื้องต้น) เพิ่มขึ้น 9.1% ที่มูลค่า 23 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ในเดือนม.ค. ไทยขาดดุลการค้าราว 2.7 พันล้านดอลลาร์ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนม.ค. กลับมาขาดดุลที่ 2 พันล้านดอลลาร์ จากเดือนก่อนหน้า (ธ.ค.) เกินดุล 1.1 พันล้านดอลลาร์
"ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนม.ค. กลับมาขาดดุลประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ เป็นผลจากดุลการค้าที่กลับมาขาดดุล ตามการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในเดือนม.ค. ส่วนดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลต่อเนื่องตามรายได้จากการท่องเที่ยว" น.ส.ชญาวดี ระบุ
ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยแข็งค่าขึ้นตามมุมมองที่ดีของนักลงทุนต่อการฟื้นตัวของภาค การท่องเที่ยวไทย จากการเปิดประเทศของจีนที่เร็วกว่าคาด ประกอบกับมีสัญญาณการชะลอตัวของเงินเฟ้อสหรัฐ จากที่เคยปรับขึ้นสูงใน 2-3 เดือนก่อนหน้า จึงทำให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีนโยบายไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงเท่าที่ตลาดคาดไว้ เงินบาทในเดือนม.ค. จึงได้รับทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ทำให้แข็งค่ากว่าสกุลเงินของประเทศคู่แข่ง
"แต่ในเดือนก.พ.จะกลับข้างกัน โดยตลาดปรับเพิ่มการคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ เนื่องจากตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐออกมาค่อนข้างดี และเงินเฟ้อไม่ได้ปรับลดลงต่อ ดอลลาร์จึงแข็งค่า ทำให้เงินบาทปรับตัวอ่อนค่า" น.ส.ชญาวดี ระบุ
ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดือนม.ค. อยู่ที่ 2.14 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ตามจำนวนนักท่องเที่ยวอินเดียที่ลดลงจากผลของมาตรการตรวจ RT-PCR ก่อนกลับจากประเทศไทย ที่บังคับใช้ชั่วคราวในเดือนม.ค. - กลางเดือนก.พ.66 อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นชัดเจน หลังทางการจีนยกเลิกการกักตัวสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.66 นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวสัญชาติอื่น อาทิ มาเลเซีย และยุโรปเพิ่มขึ้นเช่นกัน
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษา พยาบาลข้าราชการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อใช้ในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านสาธารณูปโภค
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนม.ค.66 ลดลงมาอยู่ที่ 5.02% จากเดือนธ.ค.65 ซึ่งอยู่ที่ 5.89% โดยลดลงทั้งในหมวดพลังงานและหมวดอาหารสดที่ลดลงตามราคาเนื้อสัตว์ ส่วนหนึ่งจากผลของฐานสูงในปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงมาอยู่ที่ 3.04% จากเดือนธ.ค.65 ซึ่งอยู่ที่ 3.23% เป็นการปรับลดลงตามราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ แต่ยังอยู่ในระดับสูง
ด้านตลาดแรงงานโดยรวมทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นเข้าใกล้ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19