นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า ไทยอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างภาษี เนื่องจากปัจจุบันการจัดเก็บภาษีอยู่ที่ 13% ต่อ GDP ซึ่งถ้ามีสวัสดิการต่างๆ เพิ่มขึ้น ก็ต้องหาทางเก็บภาษีเพิ่มเพื่อให้มีรายได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดว่ากระทรวงการคลังจะปรับโครงสร้างอย่างไร
ปัญหาของไทยคือภาษีเงินได้จากบุคคลธรรมดาเก็บได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากมีแรงงานนอกระบบจำนวนมาก จึงต้องมีการแก้ปัญหาให้คนเข้าระบบฐานภาษี ขณะเดียวกันโครงสร้างภาษีก็ต้องไม่เหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะคนรายได้ปานกลางที่มีค่าลดหย่อนภาษีน้อย นอกจากนี้ อาจมีการเก็บภาษีอื่นๆ เพื่อรองรับภาระของรัฐ ในแง่ของสวัสดิการที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วๆ นี้
"ช่วงแรกที่มีโครงการคนละครึ่ง ร้านค้ารายเล็กเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก แต่พอมีคนจุดประเด็นเรื่องจะเสียภาษีหากมีรายได้เยอะ ร้านค้าก็ยกเลิกเข้าร่วมโครงการ แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีความเชื่อผิดๆ ว่าเรื่องภาษีเป็นภูมิแพ้ ซึ่งต้องมีการให้ความรู้ที่ถูกต้องว่า การเสียภาษีคือ ?หน้าที่? ที่คนไทยที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ควรทำ และถ้ากลัวเสียภาษีแล้วนำไปใช้แบบไม่โปร่งใส ประชาชนสามารถช่วยกันมอนิเตอร์ให้การใช้จ่ายงบประมาณคุ้มค่ากับภาษีที่จ่ายไป ทุกวันนี้มีพูดแต่เรื่องว่ารัฐต้องช่วยอะไรบ้าง แต่ไม่ได้พูดเรื่องรายได้ที่จะเข้ารัฐ เราต้องมองทั้งสองด้าน" นายดนุชา กล่าว
สำหรับการเก็บภาษี Capital Gain ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะเก็บในรูปแบบใด และอัตราเท่าไร อย่างไรก็ดี หากจะนำมาปฏิบัติต้องใช้เวลาผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน กว่าจะมีการออกมาตรการภาษี โดยเฉพาะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตลาดทุน ต้องศึกษา และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่าย โดยที่ผ่านมากระทรวงการคลังของไทยมีการเก็บตาม Transaction ซึ่งก็มีเสียงเรียกร้องออกมาค่อนข้างมาก
*ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รายได้รัฐ-เครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ
ด้านน.ส.วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นรายได้และเครื่องมือสำคัญที่ช่วยจัดสรรทรัพยากรของคนในสังคมให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในที่สุด
ทั้งนี้ ในปี 2564 รัฐบาลมีรายได้รวม 2.8 ล้านล้านบาท โดยรายได้จากภาษีคิดเป็นสัดส่วน 88.5% ของรายได้รัฐทั้งหมด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีแนวโน้มขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 4.1 หมื่นล้านบาท ในปีงบประมาณ 2546 เป็น 6.5 แสนล้านบาท ในปีงบประมาณ 2565 และการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จาก 3 ล้านล้านบาท ในปี 2566 เป็น 6.5 ล้านล้านบาท ในปี 2585
สำหรับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า ในปี 2564 มีสัดส่วน 13.2% ของรายได้จากภาษีทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 337,779 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีมูลค่า 301,159 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.6% ต่อปี โดยมีผู้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งสิ้น 10.7 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้มีเงินได้สุทธิ (มีเงินได้เหลือหลังหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และบริจาค) ที่ต้องเสียภาษีเพียง 4.2 ล้านคนเท่านั้น
สำหรับบทบาทในการเป็นแหล่งรายได้ พบว่า ในช่วงปี 2556-2564 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อรายได้จากภาษีทั้งหมดที่รัฐจัดเก็บ มีสัดส่วนอยู่ระหว่าง 12.2-13.7 และหรือประมาณ 2.09% ของ GDP ซึ่งค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศกลุ่ม OECD ที่มีสัดส่วนเฉลี่ย 24.1% ขณะที่ในการลดความเหลื่อมล้ำ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีส่วนช่วยให้ความเหลื่อมล้ำลดลงได้ตลอดช่วงปี 2513-2558 แต่ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากภาพรวมอัตราภาษีมีลักษณะที่ก้าวหน้าน้อยกว่าหลายประเทศ
ดังนั้น ที่ผ่านมาภาษีเงินได้ของไทย ยังไม่ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ให้แก่รัฐ และจัดสรรทรัพยากรเพื่อนำมากระจายใหม่ (redistribution) ได้มากนัก ซึ่งสาเหตุสำคัญ มีดังนี้
1. แรงงานไทยเกือบ 3 ใน 4 อยู่นอกระบบภาษี โดยมีผู้มีงานทำทั้งสิ้น 38.8 ล้านคน เป็นลูกจ้างที่มีรายได้จากค่าจ้างและเงินเดือนจำนวน 18.6 ล้านคน แต่มีผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นภาษีของกรมสรรพากรเพียง 10.8 ล้านคนเท่านั้น คิดเป็นสัดส่วนเพียง 27.7% ของผู้มีงานทำทั้งหมด อีกทั้งสัดส่วนดังกล่าวยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น
2. ประเภทของเงินได้ที่ไม่ต้องเสียภาษีทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้ไม่เต็มที่และเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยมีเงินได้บางประเภทที่ได้รับการยกเว้นภาษีแต่กลับเป็นแหล่งรายได้ที่มีมูลค่าสูง และสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้มีเงินได้ได้มาก โดยเฉพาะกำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
3. การหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนทำให้รัฐสูญเสียรายได้และสร้างความเหลื่อมล้ำ โดยกลุ่มผู้มีรายได้สูงมีแนวโน้มที่จะจ่ายภาษีลดลงจากการได้รับประโยชน์จากการหักค่าใช้จ่ายที่มากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ในขณะที่ปี 2564 การลดหย่อนภาษียังทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไปกว่า 1.1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 51.8% ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องชำระทั้งหมด
ดังนั้นในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงควรมีการดำเนินการ ดังนี้
- มีมาตรการในการนำคนทุกกลุ่มเข้ามาอยู่ในระบบภาษี โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ โดยต้องมีการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นข้อจำกัดในการเข้าระบบภาษีของคนบางกลุ่ม
- ทบทวนการยกเว้นภาษีให้แก่รายได้บางประเภท โดยพิจารณาถึงความจำเป็นทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและไม่เป็นการเอื้อประโยชน์กลุ่มคนเพียงบางกลุ่ม
- ทบทวนสิทธิประโยชน์การหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน โดยจะต้องมีการพิจารณาทบทวนเกณฑ์การหักค่าใช้จ่ายและอัตราลดหย่อนให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น โดยที่ยังสามารถช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนได้และไม่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้มากเกินจำเป็น
- สื่อสารให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการจ่ายภาษี โดยการกำหนดนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง เนื่องจากการใช้งบประมาณเพื่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการจ่ายภาษี ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และมีความมั่นคงทางการคลังตามมา