สรท.คงคาดการณ์ส่งออกปีนี้โต 1-2% แม้ม.ค.หดตัว คาดทยอยฟื้น H2/66

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 7, 2023 11:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า ภาวะการส่งออกของไทยในเดือน ม.ค.66 ที่หดตัว -4.5% สอดคล้องกับที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นผลจากเทศกาลตรุษจีนปีนี้มาเร็ว ทำให้การส่งออกไปจีนมีเวลาจำกัดจึงหดตัวลดลง -11% และการชะลอคำสั่งซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เนื่องจากมีปริมาณสินค้าคงคลังที่กักตุนไว้ก่อนหน้านี้เหลืออยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งสถานการณ์ส่งออกในเดือน ม.ค.66 น่าจะเป็นจุดต่ำสุดไปแล้ว

โดยมูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวแตะ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือน ก.พ.66 หลังแนวโน้มดัชนีการผลิตของหลายประเทศทั่วโลกเริ่มกลับมาขยายตัว ประกอบกับเงินบาทอ่อนค่าอยู่ในช่วง 34-35 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกมีความพึงพอใจ

"ถึงแม้เดือนมกราคมจะติดลบ แต่ยังมีเวลาเหลืออีก 11 เดือน ปัญหาขาดแคลนชิปก็คลี่คลายแล้ว หลังแย่งกักตุนกันจนล้นสต็อก...ทิศทางการส่งออกปีที่แล้วกับปีนี้กลับทางกัน ปีที่แล้วขยายตัวครึ่งปีแรกแล้วหดตัวครึ่งปีหลัง แต่ปีนี้หดตัวครึ่งปีแรกแต่จะขยายตัวครึ่งปีหลัง สรท.ยังคงตัวเลขคาดการณ์ส่งออกปีนี้ว่าจะโต 1-2% ไว้ก่อน ขอรอดูตัวเลขในไตรมาสแรกก่อนค่อยมาประเมินกันอีกที" นายชัยชาญ กล่าว

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่

  • ภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงมีความไม่แน่นอนสูง มีโอกาสเกิดภาวะถดถอยและการชะลอตัวของภาคการผลิต แต่ยังคาดหวังภาคบริการและการท่องเที่ยวช่วยผลักดันการฟื้นตัว
  • ต้นทุนราคาพลังงานในตลาดโลกยังคงมีความผันผวนตามสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศส่งผลต่อต้นทุนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และภาวะเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ สรท.มีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่

1.ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นที่มีอยู่ รวมถึงเร่งขยายกรอบความร่วมมือไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อลดความผันผวนจากการใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯในการทำธุรกรรมและพิจารณาทบทวนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งในวันที่ 16 มี.ค.66 สรท.จะเข้าหารือกับ ธปท.เพื่อขอทราบแนวทางป้องกันผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน

2.ขอให้ควบคุมหรือกำกับดูปรับขึ้นค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.66 ให้อยู่ระดับที่เหมาะสม เนื่องจากค่าไฟฟ้าเป็นต้นทุนหลักของภาคการผลิตและกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย

3.เร่งผลักดันกระบวนการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป, ไทย-EFTA และ FTA ใหม่ในตลาดคู่ค้าสำคัญ เช่น UAE และ GCC เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ