นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติให้บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) และ บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลในการยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย ครั้งที่ 24
โดยบริษัท ปตท.สผ. อีดี เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/65 และ G3/65 ขนาดพื้นที่รวม 19,515.42 ตารางกิโลเมตร และ บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 ขนาดพื้นที่ 15,030.14 ตารางกิโลเมตร
"กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้พิจารณาคำขอสิทธิสำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมดังกล่าว โดยยึดหลักความโปร่งใสและผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ ทั้งจากคุณสมบัติของผู้ขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ข้อเสนอทางด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เกิดการสร้างงาน การสร้างรายได้แก่ท้องถิ่น รวมทั้งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม โดยจะก่อให้เกิดการลงทุนสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมภายในประเทศตลอดช่วงระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม 6 ปี เป็นเงินไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท รวมทั้งได้รับผลประโยชน์พิเศษในรูปแบบของค่าตอบแทนการลงนาม เงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนาปิโตรเลียมในประเทศไทย และอื่น ๆ เป็นเงินประมาณ 640 ล้านบาท และหากสามารถพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมได้ ในเชิงพาณิชย์ ในแปลงสำรวจปิโตรเลียมดังกล่าวก็จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่รัฐในรูปแบบของค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งจากปิโตรเลียมที่เป็นกำไรด้วย" นายสราวุธ กล่าว
สำหรับการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช (แปลง G2/61) จากระบบสัมปทานสู่ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตในวันที่ 7-8 มี.ค.66 ซึ่งดำเนินงานโดย ปตท.สผ. อีดี สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องทันทีทุกขั้นตอนแบบไร้รอยต่อ และปัญหาใด ๆ และคาดว่าจะสามารถเร่งผลิตก๊าซธรรมชาติให้มากกว่าเป้าหมายของภาครัฐที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อชดเชยปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ลดลงของแปลง G1/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณเดิม)
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เตรียมความพร้อม รองรับการดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่านของแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช (แปลง G2/6) โดยได้มีการตรวจติดตามสภาพความแข็งแรง ปลอดภัยของสิ่งติดตั้งและทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมของแปลง G2/61 รวมทั้งได้จัดตั้งวอร์รูม (War Room) เพื่อรองรับการบริหารจัดการสถานการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านในลักษณะบูรณาการ ร่วมกับผู้รับสัมปทานรายเดิม ผู้รับสัญญารายใหม่ และผู้รับซื้อปิโตรเลียม โดยมีผู้บริหารของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติบัญชาการที่ห้องวอร์รูม รวมทั้งมีทีมเฉพาะกิจภาคสนาม จำนวน 3 ทีม คอยติดตาม ควบคุมสถานการณ์อย่างใกล้ชิดบนแท่นผลิตในทะเลอ่าวไทย โดยประจำที่แท่นผลิตกลางบงกชใต้ แท่นผลิตกลางบงกชเหนือ และเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวปทุมพาหะ เพื่อตรวจสอบปริมาณการผลิตปิโตรเลียมรอบสุดท้ายในช่วงเวลาก่อนหมดอายุสัมปทาน รวมทั้งวัดปริมาณปิโตรเลียมที่คงค้างในเรือกักเก็บ ก่อนที่จะมีการส่งมอบให้กับผู้รับสัญญารายใหม่อย่างเป็นทางการ
"ในวันที่ 8 มีนาคม 2566 ถือเป็นอีกวันหนึ่งในประวัติศาสตร์พลังงานของประเทศไทย ที่จะมีการใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตในกิจการปิโตรเลียม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินงาน ได้มีการเตรียมความพร้อมทุกด้าน และเตรียมแผนรับมือในทุก ๆ จุดที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่น ไร้รอยต่อ เพื่อทำให้กระบวนการผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และสามารถสนับสนุนปริมาณก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมเพื่อทดแทนการผลิตที่ลดลงจากแหล่งอื่น ๆ ได้ด้วย
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตจะทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติที่ได้จากแปลง G2/61 ปรับลดลงประมาณ 107-152 บาทต่อล้านบีทียู (ปรับจาก 279 - 324 บาทต่อล้านบีทียู ลดลงเหลือ 172 บาทต่อล้านบีทียู) คิดเป็นมูลค่าประมาณกว่า 20,000 ล้านบาท (ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม - ธันวาคม 2566) ช่วยสร้างเสถียรภาพของราคาก๊าซธรรมชาติที่จะนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า ลดต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า และลดผลกระทบเกี่ยวกับราคาค่าไฟฟ้าของประชาชนได้ด้วย" นายสราวุธ กล่าว
ทั้งนี้ แหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช เป็นหนึ่งในแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย ได้สร้างรายได้ให้แก่รัฐในรูปแบบค่าภาคหลวงปิโตรเลียม และรายได้อื่น ๆ (ค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาผลิต) เป็นมูลค่ากว่า 230,000 ล้านบาท และจะยังคงสร้างรายได้ และความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างต่อเนื่องภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต