น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. ดำเนินโครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น การให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ของผู้ประกอบการรายที่ 3 และโครงการให้บริการคลังสินค้า ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของผู้ประกอบการรายที่ 3 ตามหลักการที่คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนได้พิจารณาเห็นชอบแล้ว
เนื่องจากมีความจำเป็นในการดำเนินการทั้ง 2 โครงการข้างต้น หลัง AOT ได้วิเคราะห์สภาพการให้บริการทั้งลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นฯ และคลังสินค้า ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้วพบว่า ระดับการให้บริการของผู้ประกอบการปัจจุบันใกล้เต็มขีดความสามารถและจะไม่สามารถรองรับความต้องการได้เพียงพอเมื่อปริมาณเที่ยวบินกลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ภายในปี 67
ปัจจุบัน AOT ได้ให้สิทธิการประกอบกิจการในส่วนของบริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นฯ แก่ผู้ประกอบการ 2 ราย ได้แก่ บมจ.การบินไทย (THAI) ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาในปี 83 และบริษัท กรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟล์ทเซอร์วิส จำกัด ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาในปี 69 ส่วนการให้บริการผู้โดยสารมีผู้ประกอบการ 3 ราย ได้แก่ THAI ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาในปี 83, บริษัท กรุงเทพเวิลด์ไวด์ และบริษัท ลุฟท์ฮันซ่า เซอร์วิส (ไทยแลนด์) ซึ่ง 2 รายหลังสิ้นสุดสัญญาไปเมื่อปี 64 แต่ AOT ได้ว่าจ้างให้ดำเนินการชั่วคราวอยู่ ส่วนการให้บริการคลังสินค้ามีผู้ประกอบการ 2 ราย ได้แก่ THAI จะสิ้นสุดในสัญญาปี 83 และ บริษัท ดับบลิวเอฟเอสพีจีคาร์โก้ จำกัด จะสิ้นสุดสัญญาในปี 69
ด้วยสถานะของ THAI อยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการให้บริการ ประกอบกับระยะเวลาการให้สิทธิประกอบกิจการของบริษัท เวิลด์ไวด์ และบริษัท ดับบลิวเอฟ ใกล้ถึงกำหนดสิ้นสุดอายุสัญญาในปี 69 อาจส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องของการให้บริการ หากไม่สามารถสรรหาผู้ให้บริการรายที่ 3 ทั้งในกรณีของบริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นฯ และบริการคลังสินค้า
สำหรับโครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นฯ รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนจะใช้รูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐรับผิดชอบในการจัดหาที่ดินสำหรับพัฒนาโครงการและกำกับดูแลติดตามตรวจสอบคุณภาพการดำเนินงานของเอกชน ส่วนเอกชนมีหน้าที่ในการจัดหาเงินทุน ออกแบบ และก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง จัดหาเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับการให้บริการตามมาตรฐาน บริหารจัดการโครงการตามขอบเขตและเงื่อนไขที่ AOT กำหนด สำหรับเงินลงทุนตามโครงการจะมาจากเอกชนทั้งหมด จำนวน 29,390.76 ล้านบาท แยกเป็น ค่าลงทุนในสิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรอุปกรณ์ 1,608.76 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและบำรุงรักษา 27,782.01 ล้านบาท
โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 25 ปี มีขอบเขตการดำเนินงานในกลุ่มบริการหลักของผู้ให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น อาทิ บริการอุปกรณ์สนับสนุนอากาศยาน การขนถ่ายเคลื่อนย้ายกระเป๋า สัมภาระ สินค้าและไปรษณีย์ภัณฑ์ ขนถ่ายและเคลื่อนย้ายผู้โดยสารและลูกเรือ และกลุ่มบริการอื่นๆ โดยแผนงานของโครงการ มีดังนี้ เดือน มิ.ย.-ก.ค.66 ประกาศเชิญชวนเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุน, เดือน เม.ย.-พ.ค.67 คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาข้อเสนอของเอกชน, เดือน ก.พ.68 ลงนามในสัญญาร่วมลงทุน, เดือน มี.ค.68-ก.พ.69 ออกแบบและก่อสร้าง และเริ่มเปิดให้บริการในเดือน มี.ค.69
ส่วนโครงการให้บริการคลังสินค้าฯ จะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนแบบ PPP Net Cost เช่นเดียวกัน ภาครัฐรับผิดชอบในการจัดหาที่ดินสำหรับการพัฒนาโครงการและกำกับดูแลการดำเนินการของเอกชน ส่วนเอกชนมีหน้าที่จัดหาเงินทุน ออกแบบและก่อสร้างสิ่งปลูกจ้าง จัดหาเครื่องจักรอุปกรณ์ บำรุงรักษา บริหารจัดการโครงการคลังสินค้าตามขอบเขตและเงื่อนไขที่ ทอท.กำหนด เงินลงทุนตามโครงการมาจากเอกชนทั้งหมด 37,914.56 ล้านบาท แยกเป็น ค่าลงทุนในสิ่งปลูกสร้างอุปกรณ์และระบบ รวม 1,318.38 ล้านบาท และ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและบำรุงรักษา 36,596.18 ล้านบาท
โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 25 ปี ขอบเขตการดำเนินงานครอบคลุมทั้งคลังสินค้าขาเข้า คลังสินค้าขาออก คลังสินค้าถ่ายลำ สินค้าเน่าเสียง่าย สินค้าเร่งด่วนและสินค้าอีคอมเมิร์ซ โดยมีแผนดำเนินงานตามโครงการ ดังนี้ เดือน มิ.ย.-ก.ค. 66 ประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนและร่างสัญญาร่วมลงทุน, เดือน เม.ย.-พ.ค.67 คณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาข้อเสนอของเอกชน, เดือน ก.พ.68 ลงนามสัญญาร่วมลงทุน, เดือน มี.ค.68-ก.พ.70 ออกแบบและก่อสร้าง และเริ่มเปิดให้บริการในเดือน มี.ค.70 เป็นต้นไป