นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่) พ.ศ. .... หรือการยกเว้นเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้รับเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐ ตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ให้เป็นเงินได้ที่ได้รับการยกเว้น โดยไม่ต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
ทั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนให้ราคาของรถยนต์ และรถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) ลดลง ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการซื้อยานยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาถูกลง ทำให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในการลงทุน และเป็นการสร้างแรงจูงใจให้มีการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) เพิ่มขึ้นในอนาคต
โดยสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา มีดังนี้
- ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ : บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ได้รับเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
- สิทธิประโยชน์ : ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ได้รับเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธินั้น
- เงื่อนไข : บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด อาทิ เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ในเขตปลอดอากรเขตประกอบการเสรี เป็นผู้นำเข้าที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ เป็นต้น
หากบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และต่อมาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น จะต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไปแล้ว ไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธินั้น
- วันที่มีผลบังคับใช้ : ถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง รายงานว่า มาตรการนี้ไม่อยู่ในประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ แต่ได้ประมาณการจากการจ่ายเงินอุดหนุนตามมาตรการดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 - 2568 จำนวน 43,000 ล้านบาท คิดเป็นรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะสูญเสียประมาณ 8,600 ล้านบาท แต่จะเป็นการสนับสนุนให้มีความต้องการการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และทำให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งจะทำให้มีการจ้างงาน และการพัฒนาฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมดังกล่าวเพิ่มขึ้น