นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อแบบเดือนต่อเดือนต่อไป แม้ว่าจะเริ่มเห็นการชะลอตัวลงของเงินเฟ้อตั้งแต่เดือน ม.ค.66 ก็ตาม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลออกมาช่วยดูแลด้านต้นทุนไม่ให้เพิ่มขึ้นมากเกินไป โดยเฉพาะการตรึงราคาพลังงานที่ยังมีอยู่ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้อัตราเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลง
"คำเดียวเท่านั้น คือต้องติดตามสถานการณ์ แต่จากประมาณการของทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะแบงก์ชาติ และสภาพัฒน์ ยังมองไปในทิศทางเดียวกันว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปีก่อนฐานสูง และปีนี้มีมาตรการต่อเนื่อง เช่นการลดภาษีน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นต้นทุนพลังงานของภาคขนส่ง เราก็ยังช่วยเหลืออยู่ และเรื่องค่าไฟ ก็ยังช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้มีรายได้น้อย เหล่านี้ มีส่วนทำให้ระดับอัตราเงินเฟ้อ และราคาสินค้าน่าจะชะลอตัวลง" นายอาคม กล่าว
พร้อมระบุว่า หากเป็นไปตามประมาณการ อัตราเงินเฟ้อจะค่อย ๆ ปรับลดลงจนกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% โดยคาดว่าปีนี้เงินเฟ้อเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ 3%
"ช่วงนี้นโยบายการเงิน การคลังก็ประสานกัน เพื่อช่วยดูแลเรื่องนี้ ซึ่งเป็นภาพใหญ่ ส่วนในด้านไมโคร มีการเข้าไปดูแลแต่ละกลุ่ม ดูแลเรื่องต้นทุน เช่นเรื่องค่าพลังงาน ซึ่งในอดีต รัฐบาลเคยช่วยเรื่องราคาพลังงานจากการลดภาษีสรรพสามิตมายาวนาน" รมว.คลังกล่าว
พร้อมมองว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้โตแบบร้อนแรงมากเกินไป โดยคาดการณ์ว่าปีนี้การบริโภคจะขยายตัวที่ระดับ 3-4% จากปีก่อนอยู่ที่ 5% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเป็นช่วงเริ่มต้นที่ประชาชนเพิ่งพ้นจากสถานการณ์โควิด-19 และเริ่มกลับมาทำงาน เริ่มมีเงินใช้จ่ายมากขึ้นกว่าช่วงการระบาด
ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น รมว.คลัง ระบุว่า ต้องขึ้นกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะประเมินอีกที