ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นัดพิเศษวานนี้พิจารณากำหนดคุณสมบัติอื่นของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. โดยนพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ได้แจ้งกระบวนการสรรหา เลขาธิการ กสทช. โดยยืนยันอำนาจหน้าที่ประธาน กสทช. ตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่ระบุว่า "ให้ประธานกรรมการ โดยความเห็นชอบของ กสทช. เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช." เพื่อคัดสรรบุคคลผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม
ประธาน กสทช.ได้รับฟังความเห็นจากกรรมการ กสทช. เพื่อรับไปพิจารณาปรับปรุงกระบวนการที่จะใช้สรรหาให้สมบูรณ์โดยยึดตามระเบียบและกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยระหว่างนั้นมีการขอให้ลงมติเลื่อนการกำหนดคุณสมบัติของเลขาธิการ กสทช. ไปก่อน โดยที่ประชุมมีมติ 3:3 ซึ่งคะแนนเสียงเท่ากัน ประธาน กสทช. จึงได้ใช้สิทธิในฐานะประธานที่ประชุมลงมติชี้ขาดเพื่อให้ดำเนินการพิจารณาประชุมพิจารณากำหนดคุณสมบัติอื่นของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ต่อไป
จากนั้น กรรมการ กสทช.พิจารณากำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ให้สอดคล้องกับมาตรา 61 วรรคสอง และที่แก้ไขเพิ่มเติมที่ระบุว่า "เลขาธิการ กสทช. ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์ในวันแต่งตั้งและต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7 รวมทั้งคุณสมบัติอื่นตามที่ กสทช. กำหนด" ด้วยเหตุนี้ กสทช. จึงมีหน้าที่กำหนดคุณสมบัติอื่นถ้ามี
ขณะที่นางพิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ตั้งประเด็นคำถามต่อกระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช. ที่จำกัดการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการ กสทช. เนื่องจากการประชุมบอร์ดกสทช.ดังกล่าวมีมติโดยเสียงชี้ขาดของประธาน กสทช. หลังเสียงโหวตของกรรมการ (รวมประธานด้วย) ออกมา 3-3 เท่ากัน ในประเด็นการคัดเลือกเลขาธิการ กสทช. โดยฝั่งหนึ่งเห็นว่าจำเป็นต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาเป็นเลขาธิการกับกระบวนการคัดเลือกไปพร้อมๆ กัน ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งมองประเด็นกระบวนการคัดเลือกแยกขาดจากคุณสมบัติ
โดยฝ่ายหลังมองว่าประธานมีอำนาจตามกฎหมายในการกำหนดกระบวนการคัดเลือกเลขาธิการ โดยอ้างถึงมาตรา 61 ซึ่งในการลงมติ สำนักงาน กสทช. บรรจุวาระกระบวนการคัดเลือกเลขาธิการ กสทช. เป็นวาระเพื่อทราบ และเสนอเรื่องคุณสมบัติเป็นวาระเพื่อพิจารณาแยกจากกัน ซึ่งกรรมการ 3 เสียงที่โหวตให้ถอนวาระการพิจารณาแบบแยกส่วนอย่างนี้ออกไปตั้งคำถามอย่างชัดเจนต่อการกระทำที่ขัดต่อมติ กสทช. ที่เคยบอกให้รวมทั้งสองเรื่องอยู่ในวาระเดียวกัน และต่อข้อเสนอของประธาน กสทช. ที่เสนอให้กระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน รวม 5 สัปดาห์ ได้แก่
1.กสทช. เห็นชอบกำหนดคุณสมบัติอื่น ตามมาตรา 61 วรรค 2 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นฯ พ.ศ.2553
2.ประธาน กสทช. ส่งหนังสือเชิญทาบทามผู้ที่มีคุณสมบัติ ใช้เวลา 7 วัน
3. ผู้ประสงค์ส่งหนังสือตอบรับพร้อมเอกสารแนบคุณสมบัติ คุณสมบัติอื่น ประวัติ ประสบการณ์ และความเหมาะสม ขั้นตอนนี้ใช้เวลา 14 วัน
4.ประธาน กสทช. คัดเลือกบุคคลที่ผ่านคุณสมบัติและมีความเชี่ยวชาญผ่านการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ เสนอให้ กสทช. เห็นชอบตามมาตรา 61 วรรค 1 พ.ร.บ.องค์กรฯ 53 ใช้เวลา 14 วัน
5.กรรมการกสทช. พิจารณาเห็นชอบรายชื่อตามที่ประธานคัดเลือกมา
แม้กฎหมายหลักของ กสทช. คือ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และที่แก้ไขเพิ่มเติมฯ จะมีการปรับปรุงแก้ไขถึงสองครั้ง แต่สาระที่เกี่ยวกับการคัดเลือกเลขาธิการไม่ได้มีการปรับปรุงแก้ไข ตั้งแต่มีการตั้ง กสทช. มาในปี 54 มีเลขาธิการหนึ่งคน โดยผ่านการสรรหาที่มีการออกประกาศ ซึ่งกำหนดคุณสมบัติและกระบวนการสรรหาที่กรรมการ กสทช.ทุกคนมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการอย่างชัดเจน
เมื่อมีการยกร่างรัฐธรรมนูญ และปรับปรุงกฎหมายในปี 59 บอร์ดกสทช.ในขณะนั้นก็มีมติให้เลขาธิการคนเดิมทำงานต่อไป เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านสำนักงาน กสทช. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และสำนักงาน กสทช. ยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่เพื่อตอบสนองการทำงานของภาครัฐและประชาชนได้อย่างเต็มความสามารถ ซึ่งในกรณีหลังนี้เป็นสถานการณ์พิเศษ และเป็นมติบอร์ดกสทช.ไม่ใช่การใช้อำนาจของประธานแต่เพียงลำพัง
นางพิรงรอง ระบุว่า ตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกสทช. เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญมาก และแม้ประธาน กสทช. จะมีอำนาจในการกำกับดูแล สำนักงาน กสทช. แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เลขาธิการ กสทช. คือ เลขานุการของประธาน แต่จะต้องทำงานเพื่อสนองนโยบายกรรมการ กสทช. ทุกคนอย่างเท่าเทียม
ในฐานะกรรมการเสียงหนึ่งที่โหวตให้ถอนวาระการพิจารณาแบบแยกส่วน และไม่เห็นด้วยกับกระบวนการคัดเลือกที่ประธาน กสทช. นำเสนอและกล่าวอ้างว่าเป็นอำนาจหน้าที่โดยชอบธรรม จึงขอตั้งคำถามและแสดงความกังวลต่อกระบวนการคัดเลือกเลขาธิการ กสทช. ที่จำกัดการมีส่วนร่วมของกรรมการ กสทช. ไว้ในประเด็นต่อไปนี้
1. การลดทอนความโปร่งใส ตรวจสอบได้ขององค์กรอิสระที่ดูแลกิจการอันเป็นพื้นฐานสำคัญของชาติ การที่ประธานจะเป็นผู้ส่งหนังสือเชิญทาบทามผู้ที่มีคุณสมบัติให้มาเป็นเลขาธิการ กสทช. นั้น อาจขัดกับหลักการธรรมาภิบาลที่ดีขององค์กรเนื่องจากไม่ได้สะท้อนความโปร่งใสของกระบวนการคัดเลือกที่ควรจะเปิดกว้างและตรวจสอบได้นอกจากนี้ การคัดเลือกผู้บริหารสูงสุดในองค์กรอิสระ หรือองค์กรของรัฐ มักประกาศเปิดรับสมัครเป็นการทั่วไปล่วงหน้า มีระยะเวลาให้ยื่นใบสมัครพอสมควร (15-30 วัน) และมีกระบวนการคัดเลือกที่ชัดเจนโดยออกเป็นกฎหมาย
2. การขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การที่ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 61 บัญญัติให้ประธานกรรมการโดยความเห็นชอบของ กสทช. เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการกสทช. ไม่ได้หมายความว่าไม่จำเป็นต้องมีกระบวนการสรรหาที่เปิดกว้างให้ผู้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมเข้าสมัครรับการสรรหา อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรมากกว่าการที่ประธาน กสทช. เป็นผู้ส่งหนังสือเชิญซึ่งเป็นวิธีการคัดเลือกที่ไม่มีการแข่งขัน อาจเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมอันขัดต่อรัฐธรรมนูญ
อีกทั้งการให้ กสทช. ทั้งคณะร่วมพิจารณาคุณสมบัติของเลขาธิการ กสทช. และกระบวนการคัดเลือกไปพร้อมๆ กัน ยังสอดคล้องกับ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 58 และสอดคล้องกับแนวทางการสรรหาเลขาธิการ กสทช. ที่ผ่านมาด้วย ยิ่งไปกว่านั้น หากกระบวนการคัดเลือกเลขาธิการกสทช.สามารถทำได้ในลักษณะตามที่ประธานกสทช.ได้นำเสนอมาคือประธานเป็นผู้ทาบทามและดำเนินการคัดเลือกเป็นหลักก็จะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ที่ไม่สะท้อนแนวปฏิบัติที่ดีของการทำงานแบบองค์คณะที่ควรจะมีการมีส่วนร่วมของกรรมการทุกคนอย่างเท่าเทียม
3. รายชื่อกสทช.คนที่ 7 ซึ่งเป็นคนสุดท้าย ได้ผ่านกระบวนการสรรหาและได้ผ่านการเห็นชอบของวุฒิสภาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ.และขณะนี้อยู่ระหว่างรอการโปรดเกล้าฯ ก่อนจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ จึงไม่มีเหตุผลที่ประธานกสทช.จะเร่งทำกระบวนการคัดเลือกเลขาธิการฯ โดยไม่รอกรรมการคนใหม่