นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึง ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนก.พ. 66 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20-24 ก.พ. 66 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 49.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 47.4 ในเดือนม.ค. 65
โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้
- กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 49.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค. ซึ่งอยู่ที่ 46.7
- ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 50.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค. ซึ่งอยู่ที่ 47.8
- ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 52.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค. ซึ่งอยู่ที่ 50.4
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 49.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค. ซึ่งอยู่ที่ 46.8
- ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 49.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค. ซึ่งอยู่ที่ 47.1
- ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 48.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค. ซึ่งอยู่ที่ 45.8
ปัจจัยบวก ได้แก่
1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 66 ให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง อย่างมาตรการช้อปดีมีคืน ปี 66 ตั้งแต่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 66 ด้วยวงเงินสูงถึง 40,000 บาท, มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตรา 15% และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 เป็นต้น
2. นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมากขึ้น เนื่องจากประเทศจีนมีการเปิดประเทศ ซึ่งเป้าหมายการเดินทางท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของชาวจีน คือ ประเทศไทย
3. ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 (E10) ในประเทศปรับตัวลดลงประมาณ 0.30 บาทต่อลิตร มาอยู่ที่ระดับ 36.08 และ 36.35 บาทต่อลิตร ส่วนราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ปรับตัวลดลงประมาณ 1 บาทต่อลิตร โดยอยู่ที่ระดับ 33.94 บาทต่อลิตร
4. ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย จากระดับ 33.225 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ม.ค. 66 เป็น 34.008 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ก.พ. 66
5. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น และมีกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น
ปัจจัยลบ ได้แก่
1. เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ประกอบกับธนาคารกลางปรับขึ้นดอกเบี้ยไปสู่ระดับที่สูงขึ้น
2. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เผยตัวเลข GDP ของไทยในปี 65 ซึ่งขยายตัวได้เพียง 2.6% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ประเมินเอาไว้ว่าจะขยายตัวได้ถึง 3.2% ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 66 ได้ปรับประมาณการเติบโตลงเหลือแค่ขยายตัวได้ 2.7-3.7%
3. การส่งออกของไทยเดือน ม.ค. 66 หดตัว 4.53% มูลค่าอยู่ที่ 20,249.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 5.52% มีมูลค่าอยู่ที่ 24,899.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 4,649.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
4. SET Index เดือน ก.พ. 66 ปรับตัวลดลง 49.11 จุด จาก 1,671.46 ณ สิ้นเดือน ม.ค. 65 เป็น 1,622.35 ณ สิ้นเดือน ก.พ. 66
5. สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงจีนกับไต้หวัน ที่อาจส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ราคาพลังงาน ราคาอาหาร และเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น
6. ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงจะเกิดขึ้น เนื่องจากมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ประชาชนยังต้องระมัดระวังการดำเนินชีวิตประจำวันมากขึ้น
โดยภาคธุรกิจได้เสนอแนวทางดำเนินการในการแก้ไขปัญหา ดังนี้
- ดูแลเรื่องต้นทุนการประกอบการ โดยเฉพาะเรื่องค่าพลังงาน
- สนับสนุนด้านการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
- การดำเนินการเรื่องสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่ขาดสภาพคล่อง
- พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน การสร้างอาชีพ ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
- มาตรการแก้ไขภาระหนี้สินครัวเรือนของประชาชน และหนี้สินทางธุรกิจจากผู้ประกอบการ
- การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ให้เกิดภาวะรุนแรงซ้ำขึ้นอีก เนื่องจากปัจจุบันมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากขึ้น
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สัญญาณของเศรษฐกิจยังดูดี เศรษฐกิจของจังหวัดเกินระดับ 50 ทุกภาค สะท้อนจากภาคบริการ ภาคการบริโภค และภาคอุตสาหกรรมที่โตเกิน 50 เกือบทุกภาค อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าไทยจะคาดหวังให้การท่องเที่ยวพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวจากการที่ส่งออกหดตัว แต่ภาคการท่องเที่ยว เกษตร และการลงทุน ยังคงอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50 เกือบทุกภูมิภาค
"แม้ว่านักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเริ่มกลับเข้ามา การท่องเที่ยวดูโดดเด่นขึ้น แต่นักท่องเที่ยวเข้ามาเพียง 60-80% จากช่วงก่อนโควิด-19 ดังนั้นการท่องเที่ยวช่วงไตรมาส 1/66 ซึ่งเพิ่งมีการเปิดประเทศ จึงทำให้การท่องเที่ยวยังไม่โดดเด่นมาก ขณะที่ภาคการส่งออกเริ่มลดลง" นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ส่งสัญญาณว่าอาจมีการเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ ทำให้ตลาดคาดว่าอาจมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปจนถึงประมาณกลางปี 66 และมีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นมาก และยาวนานกว่าเดิม โดยจากเดิมตลาดมองว่าเพดานสูงสุดของดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐจะอยู่ที่ 4.5% หรือใกล้เคียง 5% แต่ขณะนี้ตลาดเริ่มมองว่าอาจจะถึง 5-6%
ดังนั้น จึงเริ่มมีการคาดการณ์ว่า เงินดอลลาร์จะแข็งค่า เพราะดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า และการขึ้นดอกเบี้ย อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกมีโอกาสกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง
"มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ หากเข้าสู่การซึมตัวมากกว่านี้ อัตราการว่างงานต้องสูงขึ้น จึงจะเป็นสัญญาณให้เฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้น จากเดิมที่มีการคาดการณ์ว่าการส่งออกจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และการท่องเที่ยวพยุงการส่งออกได้ทัน จึงเป็นจุดเสี่ยง" นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ตามหลักแล้วการท่องเที่ยวควรเติบโตขึ้น แต่ซัพพลายเชนหายไปในช่วงโควิด สายการบินมีการปลดพนักงาน ทำให้ประสบปัญหาแรงงานไม่เพียงพอ จำนวนเที่ยวบินมีน้อย และตั๋วมีราคาแพง ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจำนวนมาก ยังไม่สามารถเข้ามาได้
อย่างไรก็ดี คาดว่าครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะไตรมาสที่ 4/66 นักท่องเที่ยวน่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยเชื่อว่าเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 30 ล้านคน ยังเป็นไปได้ ธุรกิจน่าจะปรับตัวเรื่องการบินได้ทัน ในส่วนของซัพพลายเชนในประเทศทั้งโรงแรม และภัตตาคาร ร้านอาหาร ยังสามารถปรับตัวได้ไม่น่ากังวล