รัฐบาลรับศก.โลกชะลอ กดส่งออกปีนี้ทรุด หวังดึงท่องเที่ยว-ลงทุนชูโรง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 9, 2023 15:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวในงาน IBussiness Forum 2023 THE NEXT THAILAND?S FUTRUE : จุดเปลี่ยนประเทศไทยสู่ความยั่งยืน โดยยอมรับว่าภาคการส่งออกของไทยกำลังเผชิญผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้สร้างแรงกดดันและทำให้สภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง

ทั้งนี้ รัฐบาลตระหนักดีถึงปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่หยุดชะงักมานานหลายปี และเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องหาเงินจำนวนมหาศาลเพื่อซ่อมและสร้าง ซึ่งจะช่วยดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มด้วย ทั้งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ใหม่ ๆ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลได้รุกและรับตั้งแต่ช่วงโควิด-19

การดำเนินการดังกล่าว อาจส่งผลให้หนี้สาธารณะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่อยากให้มองว่าป็นเรื่องธรรมดา เพราะประเทศไม่ได้มีการลงทุนก่อสร้างมานาน แต่เม็ดเงินดังกล่าวไม่ได้ไปไหน แต่เป็นการสนับสนุนและเสริมขีดความสามารถของประเทศให้เพิ่มมากขึ้น

"รัฐบาลเร่งดำเนินการเพื่อการเติบโตของประเทศที่ยั่งยืน ภายใต้เสถียรภาพทางการเงิน และวินัยการคลังที่ดี และเป็นที่ยอมรับ ประเทศไทยไม่ได้บอบช้ำเหมือนที่หลายคนกังวลในช่วงแรก ๆ ขณะนี้สถานการณ์ต่าง ๆ กำลังกลับเข้าสู่ระดับปกติ อยากให้ทุกคนมั่นใจ และมีความหวังว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยหลังจากนี้จะมีแต่ความมั่นคง โดยสิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันได้ทำนั้น พร้อมจะส่งมอบประเทศที่มีความเข้มแข็ง มีความพร้อมเดินหน้าเศรษฐกิจไปด้วยความยั่งยืน ให้กับรัฐบาลชุดใหม่ ไม่ว่าใครจะมาเป็นต่อจากนี้ก็ตาม" นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า ความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยมี 3 เรื่องสำคัญ คือ ความยั่งยืนของเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมา มักมีคำถามว่าไทยเติบโตช้ากว่าภูมิภาคหรือไม่ แต่หากดูในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของเศรษฐกิจไทยค่อย ๆ ปรับระดับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จะสูงสุดในช่วงใดนั้นยังไม่สามารถตอบได้ เพียงแต่มีการวางแผนไว้ว่าการเติบโตในระดับที่มีศักยภาพและเหมาะสมกับประเทศไทย จะอยู่ที่ 4-5%

ขณะที่ในปีนี้ กระทรวงการคลังยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทย จะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 3.8% โดยหลังจากนี้จะต้องดูข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงเดือน มี.ค. และ เม.ย. ก่อนจะมีการปรับประมาณการใหม่อีกครั้ง

นอกจากนี้ ยังต้องดูเรื่องเสถียรภาพของเศรษฐกิจ อาทิ อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลง และคาดว่าจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ระดับ 1-3% จากความพยายามของรัฐบาลในการใช้มาตรการ โดยเฉพาะด้านการคลังในการดูแลราคาพลังงาน ที่เป็นต้นทุนสำคัญด้านโลจิสติกส์ และการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ด้วยการลดอัตราภาษี พร้อมทั้งการขยายเพดานราคาน้ำมันดีเซลเป็น 35 บาท ถือเป็นระดับที่เหมาะสม รวมทั้งการดูแลทุนสำรองระหว่างประเทศ หนี้สาธารณะ และหนี้ครัวเรือน

"ปกติเรื่องเงินเฟ้อต้องใช้นโยบายด้านการเงินในการควบคุมดูแล ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น เป็นเรื่องของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะต้องดูในหลายปัจจัย โดยเฉพาะต้องดูเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืนและต่อเนื่อง ไม่เหมือนสหรัฐฯ ที่ต้องใช้นโยบายการเงิน เพื่อดูแลไม่ให้เงินเฟ้อจากการบริโภคสูงเกินไป" นายอาคม กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการจ้างงาน แม้ว่าปัจจุบันจะปรับตัวดีขึ้นจากช่วงปี 2563-2564 แต่ต้องยอมรับว่าไทยยังเจอปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะ ซึ่งเป็นแรงงานที่ตลาดต้องการในอนาคต ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องเร่งหามาตรการเพื่อมาดูแลสังคมผู้สูงวัย โดยเฉพาะผู้ที่เกษียณอายุการทำงาน 60 ปี ให้มีรายได้ที่สามารถเลี้ยงชีพได้ โดยต้องทำทั้ง 2 ทาง คือ ทำให้เกิดการจ้างงานผู้สูงอายุ ซึ่งกระทรวงการคลังกำลังพิจารณาว่าจะมีมาตรการด้านภาษีเพื่อสนับสนุนเรื่องดังกล่าวอย่างไร และอีกด้านคือการสร้างหลักประกันที่มั่นคงในชีวิตสำหรับผู้สูงวัย

นายอาคม ยังกล่าวด้วยว่า สถานการณ์ด้านการคลัง และฐานะการคลังในปัจจุบันยังไม่มีปัญหาอะไร โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะขณะนี้อยู่ที่ 61.26% เหตุที่ปรับเพิ่มขึ้น เพราะเศรษฐกิจขยายตัวขึ้น และจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งปีงบประมาณ 2566 อยู่ที่ 6.59 แสนล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าไทยกำลังจะเข้าสู่ความยั่งยืนด้านการคลัง ทุนสำรองประเทศอยู่ที่ระดับ 2 แสนล้านบาท ขณะที่ปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลได้มีการเพิ่มวงเงินงบประมาณรายจ่ายอีก 1.65 แสนล้านบาท มากกว่าในอดีต 2 เท่า ทำให้รัฐบาลมีงบในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยหลัก ๆ ราว 20% ของงบประมาณดังกล่าว เป็นเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ขณะที่นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า ปีนี้สัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกค่อนข้างชัดเจนและเร็วกว่าที่คิดไว้ โดยปัจจัยดังกล่าว จะส่งผลกระทบโดยตรงกับภาคการส่งออกและการผลิตของภาคอุตสาหกรรมของไทยค่อนข้างมาก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ไม่เกิน 3% โดยมองว่าจะเริ่มเห็นแนวโน้มการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไป

"ปีนี้คาดการณ์ว่าการส่งออกมีโอกาสที่จะติดลบ แต่จะได้การลงทุนจากภาคเอกชนเข้ามาช่วยพยุงให้เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังสามารถเติบโตได้ที่ระดับ 3.2% โดยมีค่ากลางที่ 2.7-3.7%" นายดนุชา กล่าว

ส่วนการจัดทำงบประมาณปี 2567 ที่อาจมีปัญหาล่าช้าออกไป เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้นนั้น หากได้รัฐบาลใหม่เร็ว ก็อาจจะใช้งบประมาณพลางไปก่อนราวเดือนครึ่ง หรือถ้าช้าสุดก็น่าจะไม่เกิน 3 เดือน โดยคาดว่างบประมาณปี 2567 น่าจะเริ่มใช้ได้อย่างเป็นทางการในช่วงเดือน ม.ค. 2567 ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่มีความท้าทายอย่างมาก

นายดนุชา ยังกล่าวถึงปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวของการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน ส่วนข้อจำกัดหรือปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินโลก ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย การลดลงของแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายของภาครัฐ

อย่างไรก็ดี การเดินหน้าประเทศตั้งแต่ปี 2566 และระยะต่อไป ต้องเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในสาขาที่มีศักยภาพเพื่อยกระดับเชิงโครงสร้าง เช่น การเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมและการรองรับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายในอนาคต การส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน การส่งเสริมบริการทางการแพทย์ และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องทางสุขภาพ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ