ดัชนีครัวเรือนก.พ.ฟื้น คลายกังวลเงินเฟ้อ-ท่องเที่ยวหนุนรายได้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 10, 2023 18:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยถึงดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือนก.พ.66 อยู่ที่ 36.6 ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 35.1 ในเดือนม.ค. ขณะที่ดัชนีในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 38.6 ปรับตัวดีขึ้นจาก 37.8 ในเดือน ม.ค.เช่นกัน ซึ่งแม้ครัวเรือนจะยังคงมีความกังวล แต่ก็มีระดับลดลง จากมุมมองที่ดีขึ้นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและราคาสินค้าที่ชะลอลง สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อไทยเดือนก.พ.66 อยู่ที่ระดับ 3.79% ชะลอตัวลงซึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าหมวดอาหารสดที่ลดลง

นอกจากนี้ ในเดือนมี.ค.66 ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับลดลงมาอยู่ที่ 34 บาทต่อลิตร หลังจากถูกตรึงให้อยู่ระดับ 35 บาทต่อลิตรมานาน 7 เดือน อีกทั้งภาครัฐยังคงให้การอุดหนุนราคาน้ำมันดังกล่าว เช่น การขยายเวลาลดภาษีน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาทออกไปถึงเดือนพ.ค.66

สำหรับภาคการท่องเที่ยวที่ถือได้ว่าเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังคงสะท้อนถึงการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง และหนุนให้ครัวเรือนมีมุมมองที่ดีเกี่ยวรายได้และการจ้างงาน โดยอัตราการว่างงานเดือนม.ค.66 อยู่ที่ 1.2% โดยในเดือนม.ค.66 นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยมีจำนวนมากกว่า 2 ล้านคน เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ด้านการท่องเที่ยวภายในประเทศขยายตัวได้แข็งแกร่ง โดยเดือนม.ค.66 การเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทย มีจำนวน 15.84 ล้านคน-ครั้ง (64.9%) และสร้างรายได้กว่า 70,328.9 ล้านบาท (47.3%)

อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับภาระหนี้ในระยะข้างหน้า สอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในประเทศจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยขณะนี้มีอัตราอยู่ที่ 1.50% ต่อปี ซึ่งเป็นต้นทุนทางการเงินของครัวเรือนจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองว่า หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในปี 2566 อาจชะลอตัวลงมาที่กรอบ 84.0-86.5% แต่ภาระหนี้ที่ยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง อาจเป็นข้อจำกัดในการเติบโตของการบริโภคภาคครัวเรือนในอนาคต

ในระยะข้างหน้า ดัชนี KR-ECI มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง จากปัจจัยหนุนในเรื่องของการท่องเที่ยวที่จะเข้ามาหนุนการจ้างงานและรายได้ ประกอบกับมุมมองที่ดีขึ้นเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจีนยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด และเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซนมีโอกาสจะเผชิญภาวะถดถอยไม่รุนแรง หรือล่าช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ ซึ่งอาจลดผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะผ่านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการส่งออก

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามความเสี่ยงอีกหลายด้าน ทั้งค่าครองชีพที่ชะลอลงแต่ยังอยู่ในระดับสูง และทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น (โดยคาดว่าปี 2566 อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับมาอยู่ที่ 1.75%-2.00%) ซึ่งจะเข้ามากดดันกำลังซื้อของครัวเรือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ