ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่ามาตรการที่ทางการสหรัฐฯ ใช้รับมือกับปัญหาแบงก์ในสหรัฐฯ เป็นแนวทางใหม่ที่ไม่เคยดำเนินการมาก่อน โดยมาตรการหลักที่ออกมา 2 มาตรการ คือ 1) มาตรการ BTLP มีข้อดีตรงที่แบงก์สามารถกู้ยืมได้นานถึง 1 ปี และวงเงินกู้ที่ได้รับจะเท่ากับหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันซึ่งจะถูกประเมินที่ราคาพาร์ และ 2) การให้การคุ้มครองผู้ฝากเงินในแบงก์ที่ปิดตัวลงแบบครอบคลุม ซึ่งมากกว่าสถานการณ์ปกติ
ประเมินว่า ทั้ง 2 มาตรการไม่เรียกว่าเป็นการ Bailout แบงก์ที่ประสบปัญหา เพราะไม่ได้มีการอัดฉีดเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อช่วยพยุงกิจการ จึงไม่ได้เป็นภาระโดยตรงต่อประชาชนผู้เสียภาษี
แต่ประเด็นที่ต้องติดตาม ก็คือ แบงก์ที่เผชิญแรงกดดันจากการไหลออกของเงินฝากนั้น จะถือครองสินทรัพย์คุณภาพสูงในปริมาณที่มากพอที่จะนำไปค้ำประกันเพื่อขอกู้เงินเสริมสภาพคล่องและนำมาจ่ายคืนเงินฝากที่ถูกไถ่ถอนได้เพียงพอหรือไม่ ขณะที่การช่วยเหลือผู้ฝากเงินก็จะเป็นภาระของแบงก์ที่ยังเปิดทำการอยู่ ซึ่งต้องมีหน้าที่นำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ในภายหลัง
แม้มาตรการ BTLP จะช่วยเข้าประคองสถานการณ์ได้ในระดับหนึ่ง แต่แรงกดดันที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องในหุ้นแบงก์สหรัฐฯ บางแห่ง ก็เป็นสัญญาณที่สะท้อนว่า ความเชื่อมั่นยังไม่สามารถฟื้นกลับมาได้ในระยะเวลาอันสั้น และเฟดกำลังถูกตลาดกดดันอีกครั้ง ให้ต้องนำเรื่องความปั่นป่วนจากปัญหาในภาคธนาคาร มาชั่งน้ำหนักพร้อมๆ กับการดูแลปัญหาเงินเฟ้อในการประเมินทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า เพราะไม่ว่าจะยังไง ความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้นแล้วอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทำให้เฟดจะต้องตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยอย่างระมัดระวังและรอบคอบ เพราะหากผิดพลาดไปอาจก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างกว่านี้ได้