น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการดำเนินการกรณีที่ประเทศไทยแสดงความสนใจในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมประจำปีของสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ปี 2569
โดยกระทรวงการคลังรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.65 รมว.คลังในฐานะผู้ว่าธนาคารโลกของประเทศไทย ได้ส่งหนังสือไปยังธนาคารโลกว่าประเทศไทยในฐานะสมาชิกของธนาคารโลกและ IMF มีความสนใจจะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมประจำปีผู้ว่าการธนาคารโลกและ IMF ในปี 2569 และได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความพร้อมในด้านต่างๆ ของประเทศไทยด้วย
สำหรับการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกฯ เป็น 1 ใน 2 ประชุมสำคัญของธนาคารโลกและ IMF คือ Spring Meeting ที่จัดขึ้นทุกเดือน เม.ย.ของทุกปีที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐฯ และการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกฯ ซึ่งจัดขึ้นในเดือน ต.ค.ทุก 3 ปี โดยหมุนเวียนให้ประเทศสมาชิกเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ โดยประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพครั้งล่าสุดเมื่อปี 2534 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ล่าสุดประเทศไทยได้ผ่านการพิจารณาความเหมาะสมในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมประจำปีสภาผู้ว่าธนาคารโลกฯ ปี 2569 โดยคณะทำงานของธนาคารโลกและ IMF ได้เดินทางมาสำรวจสถานที่จัดประชุม โรงแรมที่พัก ระบบคมนาคม และความพร้อมของไทยเมื่อวันที่ 14-16 ธ.ค.65 และได้รับคัดเลือกให้ไทยเป็น 1 ใน 2 ประเทศที่มีความเหมาะสมร่วมกับกาตาร์ จากก่อนหน้านี้ที่มีประเทศผ่านขั้นตอนการพิจารณาความเหมาะสมในครั้งแรก 5 ประเทศ
โดยระหว่างการประชุม Spring Meeting ที่สหรัฐฯ ในวันที่ 14 เม.ย.66 จะมีการสรุปผลการคัดเลือกประเทศที่จะได้เป็นเจ้าภาพต่อคณะกรรมการบริหารกลุ่มออกเสียงของธนาคารโลกและ IMF และมีการลงนามบันทึกความเข้าใจในการเป็นเจ้าภาพในช่วงการประชุมประจำปีผู้ว่าการธนาคารโลกฯ ในเดือน ต.ค.66 ณ ราชอาณาจักรโมร็อกโกต่อไป
กระทรวงการคลัง แจ้งว่า หากประเทศไทยได้รับเลือก กระทรวงการคลังจะเสนอให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกฯ ปี 2569 พร้อมขออนุมัติวงเงินงบประมาณสำหรับดำเนินการ และอนุมัติการลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ต่อไป ซึ่งการเป็นเจ้าภาพของประเทศไทยนี้จะเป็นการแสดงบทบาทของไทยในการสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ และแสดงศักยภาพ ความพร้อมของไทยในการจัดประชุมระหว่างประเทศ ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นด้วย
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของธนาคารโลกและ IMF มาตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.2492 โดยมี รมว.คลังดำรงตำแหน่งผู้ว่าธนาคารโลกของประเทศไทย และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ IMF ของประเทศไทย เพื่อเป็นผู้แทนของประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมหรือภารกิจต่างๆ ของทั้ง 2 องค์กร ที่เกี่ยวข้องและเกิดประโยชน์กับประเทศไทย