บีทีเอส เปิดทดลองใช้ฟรีรถไฟฟ้าสายสีเหลืองกลางพ.ค. สายสีชมพู ก.ค.66

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday March 18, 2023 12:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงคมนาคม และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ถึงกำหนดการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. และสายสีชมพู (ช่วงแคราย - มีนบุรี) ระยะทาง 34.5 กม. เนื่องจากโครงการก่อสร้างในส่วนของงานโยธา งานระบบรถไฟฟ้า และการเดินรถใกล้แล้วเสร็จ

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ตั้งเป้าจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์และเก็บค่าโดยสารในมิ.ย.66 ถือว่าเร็วกว่าแผน โดยจะเริ่มมีการทดสอบระบบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ที่ยังไม่มีผู้โดยสารในเม.ย.66 ซึ่งจะเป็นการทดสอบระบบเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ และระบบความปลอดภัยทั้งหมด โดยจะมีพนักงานให้บริการเดินรถ พนักงานประจำสถานีเข้าปฎิบัติการเหมือนเปิดให้บริการจริง

โดยในการทดสอบเดินรถเสมือนจริงนี้ จะมีที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ (ICE) เข้าตรวจสอบระบบความปลอดภัยตามมาตรฐาน หากผ่านก็จะให้การรับรอง จากนั้นจะสามารถเปิดให้มีผู้โดยสารเข้าใช้บริการได้ ซึ่งบริษัทคาดว่าจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรี 2 สัปดาห์ หรือช่วงกลางพ.ค.66

"กระทรวงคมนาคม เจรจาขอให้เพิ่มระยะเวลาให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรีเป็น 1 เดือน ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาความพร้อมร่วมกัน" นายสุรพงษ์ กล่าว

ส่วนแผนการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี จะเป็นช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ หรือประมาณส.ค.66 โดยจะเริ่มทดสอบระบบเดินรถเสมือนจริงช่วงก.ค.66 ก่อนเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ แต่เนื่องจากสายสีชมพูยังมีปัญหาจุดขึ้น-ลง สถานีรถไฟฟ้า บนถนนแจ้งวัฒนะ มีพื้นที่ก่อสร้างทับซ้อนกับโครงการฟลัดเวย์ ของกรมทางหลวง ซึ่งกระทบต่อการก่อสร้าง เช่น สถานีนพรัตน์ (PK26) สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK0) สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (PK12) จึงต้องพิจารณาความพร้อมในการเปิดให้บริการตลอดสายหรือเปิดให้บริการบางส่วน (PARTIAL Operation) โดยเป้าหมายของรถไฟฟ้าสายสีชมพู จะเปิดตลอดสายภายในปลายปี 66 ขณะที่สายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานีนั้น จะก่อสร้างเสร็จปี 67 และพยายามเปิดให้บริการในปลายปี 67

สำหรับระบบจัดเก็บค่าโดยสารนั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า จะใช้ระบบบัตรแรบบิท ขณะที่ตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู กำหนดให้มีระบบตั๋วร่วมกับรถไฟฟ้า MRT เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางโดยคิดค่าแรกเข้าครั้งเดียว ซึ่งขณะนี้ได้ตกลงกับธนาคากรุงไทย (KTB) เรียบร้อยแล้ว เพื่อเร่งติดตั้งระบบรองรับบัตร EMV

"ช่วงแรกของสายสีเหลือง จะติดตั้ง 1 ช่องทางเข้าพิเศษก่อน จากนั้นระยะ 2 จะขยายไปทุกช่องทางเข้า ส่วนสีชมพู จะมีการติดตั้งรองรับบัตร EMV ครบทุกช่องทาง ให้ทันก่อนเปิดให้บริการ" นายสุรพงษ์ กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า หากภายในปีนี้ บริษัท อีสเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีชมพู สามารถเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสีชมพูได้ตามแผน จะทำให้บริษัทฯ มีรายได้จากค่าโดยสารทั้ง 2 สาย รวมประมาณ 2,000 ล้านบาท/ปี และมีรายได้ในส่วนที่รัฐจ่ายคืนเงินอุดหนุนค่าลงทุนงานโยธาตามสัญญาของทั้ง 2 สาย รวมประมาณ 4,700 ล้านบาท/ปี

โดยตามสัญญาสัมปทาน รัฐจ่ายคืนค่างานโยธาเป็นเวลา 10 งวด (ปี) นับจากจากเปิดให้บริการ โดยงวดแรกจะจ่ายหลังเปิดให้บริการ 45 วัน ซึ่งสัญญาสัมปทานสายสีชมพู รัฐอุดหนุนค่างานโยธา 19,975 ล้านบาท ส่วนสายสีเหลือง รัฐอุดหนุนค่างานโยธา 22,239 ล้านบาท