ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจโรงงานปุ๋ยเคมี บริษัท ไอซีพี เฟอไลเซอร์ จำกัด อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่ามีสต็อกปุ๋ยอยู่ในปริมาณที่มาก ทั้งแม่ปุ๋ย ปุ๋ยที่บรรจุกระสอบแล้ว และวัตถุดิบสำหรับผสมปุ๋ยสูตร และโรงงานยังมีการนำเข้าปุ๋ยมาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง พร้อมรองรับการใช้ปุ๋ยในช่วงฤดูเพาะปลูกของเกษตรกร
สำหรับปริมาณสต็อกปุ๋ยเคมีทั่วประเทศขณะนี้มีประมาณ 1.27 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 22% เกษตรกรจึงมั่นใจได้ว่าจะมีปุ๋ยใช้อย่างเพียงพอ ไม่ขาดตลาด อีกทั้งราคาก็ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเทียบกับช่วงกลางปีที่แล้วปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ราคาเฉลี่ยภาคกลางลดลงถึง 36% แอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0) ราคาเฉลี่ยภาคกลางลดลง 31%
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะคุมเข้มต่อไป เมื่อต้นทุนนำเข้าปุ๋ยลดลงราคาจำหน่ายก็ต้องลดลงด้วย ห้ามฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาโดยไม่มีเหตุอันสมควร ดังนั้น หากเกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น พบการฉวยโอกาสขึ้นราคาปุ๋ยทั้งที่ต้นทุนลดลง ปฏิเสธการจำหน่ายทั้งที่ยังมีของอยู่ สามารถแจ้งหรือร้องเรียนที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด กระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปจัดการโดยเด็ดขาด การจำหน่ายสินค้าในราคาสูงเกินสมควร หรือการกักตุนสินค้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ได้ลงพื้นที่สหกรณ์การเกษตรทุ่งวัดสิงห์ อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ร่วมกับนายประมวล นิลนาค พาณิชย์จังหวัดชัยนาท ผู้แทนเกษตรจังหวัด และสหกรณ์จังหวัด เพื่อรับฟังสถานการณ์การจำหน่ายและการใช้ปุ๋ย และแนะนำช่องทางให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันสั่งซื้อปุ๋ยตรงจากโรงงาน ไม่ว่าจะรวมกันในรูปแบบสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน เกษตรแปลงใหญ่ หรือศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้เกษตรกรซื้อปุ๋ยได้ในราคาที่ถูกลง
"แนวคิด "จับคู่ปุ๋ย ซื้อตรง ถูกเงิน-ถูกใจ" ที่กรมการค้าภายใน ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ประชาสัมพันธ์ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่สถาบันหรือกลุ่มเกษตรกร ซึ่งกรมฯ ได้ขอให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อให้สถาบัน หรือกลุ่มเกษตรกรด้วย ซึ่ง ธ.ก.ส.ก็จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป" ร.ต.จักรา ระบุ
ทั้งนี้ สถาบันเกษตรกร หรือเกษตรกรที่สนใจจะรวมกลุ่มกันซื้อปุ๋ย สามารถรวบรวมความต้องการของสมาชิก และติดต่อสั่งซื้อจากโรงงานตามรายชื่อ และเบอร์โทรศัพท์ที่กรมการค้าภายใน ได้เผยแพร่บนเว็บไซต์ www.dit.go.th กรณีมีข้อสงสัย สามารถติดต่อกรมการค้าภายใน หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด และหากต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับการรวมกลุ่ม สามารถสอบถามได้จากเกษตรจังหวัด หรือสหกรณ์จังหวัดในพื้นที่