นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า ในช่วงที่เป็นรัฐบาลรักษาการนั้น คงไม่มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เนื่องจากไม่สามารถใช้งบประมาณในโครงการที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายได้ โดยมองว่า โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน จะมีความครอบคลุมและเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนได้อยู่แล้ว เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล รวมถึงโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565
อย่างไรก็ดี หากมีโครงการที่มีความจำเป็นจะต้องใช้งบประมาณเร่งด่วน ก็สามารถทำเรื่องเสนอได้ แต่ต้องเป็นโครงการหรือนโยบายที่ไม่มีผลผูกพันกับงบประมาณ หรือนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามา โดยต้องเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของแต่ละกระทรวงเท่านั้น โดยสามารถทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้พิจารณาได้
นอกจากนี้ มองว่าไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องการใช้งบประมาณปี 2567 เพราะเชื่อว่ารัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา จะเร่งเรื่องการใช้งบประมาณเพื่อให้เศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนช่วงสุญญากาศในระหว่างรอการเลือกตั้งเพื่อมีรัฐบาลใหม่นั้น เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจ เพราะธุรกิจก็ยังต้องเดินหน้าต่อไปได้ไม่มีปัญหาอะไร โดยไม่ต้องรอดูความชัดเจนของรัฐบาลใหม่ เพราะภาคธุรกิจและเศรษฐกิจคงจะหยุดรอไม่ได้อยู่แล้ว
รมว.คลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวได้ 3-4% ส่วนโอกาสที่จะขยายตัวได้มากกว่านี้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ 1.การลงทุนภาครัฐ ต้องขยายตัวต่อเนื่อง ที่ผ่านมา การลงทุนของรัฐมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก และมีสัดส่วนต่ำกว่าการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งจากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้รัฐต้องจัดสรรงบประมาณ โดยมุ่งดูแลเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
2.การขยายตัวของภาคการส่งออก แม้ว่าในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ปลายปี 2565 การส่งออกจะติดลบทุกเดือน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ก็ยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป และ 3.ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ จากความขัดแย่งของรัสเซีย-ยูเครน กระทบเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลต้นทุนสินค้าและราคาพลังงานให้เพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องปัจจัยใหม่เรื่องระบบสถาบันการเงิน ที่มีการปิดธนาคารของสหรัฐ และในสหภาพยุโรป ว่าจะมีความเสี่ยงเพิ่มหรือไม่
"เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตมากกว่าที่คาดไว้ 3-4% แต่ต้องไปดูว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่จะมากระทบ และจะทำอะไรเพิ่มได้ ซึ่งยังมีในเรื่องของการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) การลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ เพิ่มทักษะต่าง ๆ หากภาคธุรกิจช่วยกัน ในส่วนนี้ ก็จะช่วยให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 1% เป็นกำไรที่ภาคธุรกิจจะได้เพิ่มขึ้นด้วย" รมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปี 2566 ของสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ "ถึงเวลา ก้าวสู่ทรงใหม่ไทยแลนด์"
ขณะที่ปัจจัยที่มีความท้าทายเศรษฐกิจไทยในอนาคต มี 5 เรื่อง คือ 1.การนำนโยบายการเงิน การคลัง ดูแลเศรษฐกิจมหภาคต้องควบคู่กัน โดยจะต้องมองทั้ง 2 เรื่อง คือ การเติบโต ควบคู่กับความยั่งยืน ซึ่งหมายถึงดูแลอัตราเงินเฟ้อ และอัตราการว่างงาน ซึ่งพบว่ามีแนวโน้มดีขึ้นหลังจากเปิดประเทศ การว่างงานมีอัตราเฉลี่ย 1% แต่ก็ยังมีช่องว่างที่จะลดลงได้ เช่น การเพิ่มทักษะในอาชีพใหม่ ๆ
2.การดูแลเรื่องการจัดเก็บรายได้ ต้องมีการปฏิรูปการจัดเก็บ ที่ผ่านมา รายได้รัฐมีสัดส่วนเพียง 43% ของจีดีพี ซึ่งถือว่าน้อยมาก ทำให้การจัดสรรทรัพยากรดูแลประชาชนมีข้อจำกัด อีกทั้งในระยะต่อไปจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ที่ 24% ของจำนวนประชากรทั้งหมดคือผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่องได้ยาวนาน 10-20 ปีอีกแล้ว เพราะจะทำให้ต้องมีการกู้ชดเชยขาดดุลเพิ่มขึ้น โดยระยะต่อไป รัฐบาลมีเป้าหมายลดการขาดดุลให้ต่ำกว่า 3% ของจีดีพี
3.การผลักดันให้เศรษฐกิจไทย มุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่ หรือ New Economy หรืออาจเรียกว่า "ทรงใหม่ ไทยแลนด์" ทั้งการผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) ที่เป็นเป้าหมายของรัฐบาลในการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ 12 ประเภท การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซอฟท์พาวเวอร์ และเร่งดึงการลงทุนดิจิทัลมาในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเปิด Data Center ที่ไทยมีความได้เปรียบ มี 11 บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนแล้ว และมีบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอีก 1 รายเตรียมมาลงทุน ซึ่งก็ต้องให้การสนับสนุนในเรื่องมาตรการภาษี และ Long Term Visa เป็นเต้น
4.การเตรียมรับมือกับสภาวะโลกร้อน โดยในส่วนของการทำนโยบาย มีการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ช่วยเหลือเรื่องมาตรการภาษี เพื่อให้ราคาขายรถยนต์ไฟฟ้าไม่แตกต่างจากราคารถยนต์สันดาปมาก รวมทั้งมีการสนับสนุนเงินให้กับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า
5.ลดการใช้พลังงานฟอสซิล โดยหันมาใช้พลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้น
นายอาคม กล่าวถึงกรณีวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรปว่า ไม่น่าจะมีผลกระทบกับสถาบันการเงินของประเทศไทย โดยที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันว่าสถาบันการเงินของไทยยังสุขภาพแข็งแรงดีอยู่ และที่ผ่านมา ธปท. ก็มีการดูแลสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด และเข้มแข็ง เพราะประเทศไทยมีบทเรียนตั้งแต่สมัยปี 2540 อยู่แล้ว
สำหรับแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลัก ๆ เป็นผลมาจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะกรณีวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรป ขณะเดียวกันในช่วงปลายสัปดาห์นี้เชื่อว่านักลงทุนคงจับตาดูทิศทางของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในการพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ย ก็อาจจะมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนบ้าง แต่ยืนยันว่าอัตราแลกเปลี่ยนของไทยที่บางช่วงมีความผันผวนนั้น เป็นผลจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงนั้น มีผลกระทบกับภาคการส่งออกของไทยให้ลดลง ตั้งแต่ไตรมาส 4/65 จนถึงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้นยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ ที่ยังสามารถขยายตัวได้ เช่น ตลาดอาเซียน โดยทุกฝ่ายต้องช่วยกันขับเคลื่อน