นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กทม.พร้อมเดินหน้าในการหาแนวทางการปรับปรุงพื้นที่และอาคารที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในกรุงเทพฯนำมาพัฒนาเป็นห้องเช่าให้กับกลุ่มคนที่เริ่มทำงาน (First Jobber) โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ในช่วงเริ่มต้นทำงาน โดยจะคิดอัตราค่าเช่า 3,000-4,000 บาท/เดือน ซึ่งจะพัฒนาเป็นโครงการอาคารชุดให้เช่า ในทำเลที่อยู่ในเมือง เพราะปัจจุบันคนกลุ่ที่เริ่มทำงานการซื้อที่อยู่อาศัยราคาถูกส่วนใหญ่จะอยู่นอกเมือง และการเดินทางเข้ามาทำงานในเมืองต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางที่นานพอสมควร และมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูง
โดยกทม.ได้มีการกำหนดนโยบายด้านที่อยู่อาศัยและนโยบายอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเป็นเจ้าของ หรือมีที่อยู่อาศัยให้กับคนกรุงเทพในแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้มีรายได้น้อย กลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มต้น กลุ่ม First Jobber และกลุ่มคนวัยทำงาน โดยนโยบายแรก ซึ่งถือว่าสำคัญที่สุดและสอดคล้องกับความวัตถุประสงค์ของการจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโด คือ ความต้องการเพิ่มโอกาสการมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และหลากหลายรูปแบบให้กับคนกรุงเทพฯผ่านแผนยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัย
ที่ผ่านมาทีมงานกทม.ทำการศึกษาถึงความต้องการของคนแต่ละกลุ่ม ว่าต้องการที่อยู่อาศัยรูปแบบไหน และจะประสานขอความร่วมมือจากหน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่อยู่อาศัย เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน การเคหะแห่งชาติ ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย และจะทำการติดตามผลให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ โดยในส่วนกรุงเทพมหานครเอง ก็จะดำเนินการกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ ตามข้อบัญญัติ กรุงเทพมหานคร เรื่องกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2541 เพื่อเพิ่มโอกาสพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มั่นคงให้กับคนกรุงเทพฯ อีกด้วย
ขณะเดียวกันจะให้การสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชั่วคราว สำหรับนักเรียนนักศึกษาจบใหม่ หรือกลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มต้น และก้าวเข้ามาสู่การเป็น First Jobber เพื่อให้เช่าในราคาต่ำ เป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อให้สามารถตั้งตัวและเก็บเงินก้อนแรกได้ โดยจะใช้พื้นที่สำนักงานกรุงเทพมหานคร ที่กระจายตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน หลังจากที่ย้ายพนักงานส่วนใหญ่มาทำงานร่วมกันที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 พร้อมทั้งปรับปรุงอาคารสงเคราะห์ข้าราชการ และลูกจ้างประจำกรุงเทพฯ ให้มีความหนาแน่นมากขึ้น พร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกและพื้นที่ส่วนกลางคุณภาพ
อีกทั้งกทม. ยังจะจัดทำฐานข้อมูลที่ดินในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน ร่วมกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เอกชน หรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นำอาคารเก่าหรือร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ไปพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยเพื่อคนวัยเริ่มทำงานได้เช่า โดยที่กรุงเทพมหานครจะออกมาตรการส่งเสริมด้านภาษี มาตรการส่งเสริมการพัฒนาด้วยการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาที่อยู่อาศัย รวมทั้งจะช่วยประชาสัมพันธ์ ทำการรวบรวมยูนิตที่อยู่อาศัยชั่วคราวในทำเลต่างๆ และช่วยเหลือในการค้นหาและประสานงานการจัดหาที่อยู่อาศัยชั่วคราวให้กับกลุ่มเป้าหมาย
"ที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยสี่ของทุกคน เป็นจุดเริ่มต้นของสังคมครอบครัว พื้นฐานหลักที่สำคัญของสังคมไทย หากครอบครัวมีที่อยู่อาศัย ชีวิตของสมาชิกครอบครัวก็จะมั่นคง คุณภาพชีวิตก็จะดีด้วย แต่การจะทำให้ทุกครอบครัวมีที่อยู่อาศัย ต้องมีความร่วมมือกันจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน" นายชัชชาติ กล่าว
สำหรับนโยบายสนับสนุนการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้านอื่นๆ ยังมีนโยบายสร้างเมืองใหม่ในพื้นที่ชานเมือง เพื่อเพิ่มแหล่งงานในย่านที่อยู่อาศัยชานเมือง และเร่งตัดถนนสายย่อยเชื่อมการเดินทางลดการเดินทางเข้ากรุงเทพฯชั้นใน พร้อมทั้งเร่งตัดถนนย่อยตามผังเมือง เพื่อเพิ่มความคล่องตัวของการจราจร
นอกจากนี้จะมีนโยบายเพิ่มรถเมล์สายหลัก และสายรองราคาถูกตลอดสาย นโยบายสร้างจุดเชื่อมต่อการเดินทาง เพื่อการเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่สะดวกสบายขึ้น นโยบายเพิ่มสถานีชาร์จ และสลับแบตเตอรี เพื่อรองรับผู้ใช้รถไฟฟ้าที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง